“ความต่างระหว่าง Boss กับ Leader” คุณล่ะ..เป็นผู้นำแบบไหน?

การเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเราเป็นผู้นำ หรือต้องเจอกับผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดี ลูกน้องก็ไม่อยากทำงานด้วย ทยอยลาออกกันไปทีละคนสองคน 

ในความเป็นจริงเหตุผลอันดับหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปลาออกจากงานก็คือ การมีเจ้านายห่วย ๆ ซึ่งการมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำที่ดี จะช่วยเป็นกำลังใจให้กับทีมของคุณได้ งานเดินหน้า ลูกน้องก็รักและอยากให้ความร่วมมือช่วยให้การทำงานสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น และหากคุณต้องการทราบว่าคุณหรือคนรอบตัวเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์หรือทำลาย ต้องลองมาหาคำตอบจากบทความนี้กัน

 1. ข่ม ทำให้กลัว VS เกิดแรงบันดาลใจ

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: มักจะคิดวิธีแสดงอำนาจของเขาและเรียกร้องหาความเคารพจากผู้อื่น แทนที่จะค่อย ๆ สะสมสิ่งเหล่านี้ ผู้นำประเภทนี้จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเขา

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: จะคอยเป็นแรงบันดาลใจให้สมาชิกภายในทีมของเขาให้เติบโตและได้ฝึกฝนทักษะไปพร้อม ๆ กัน ผู้นำประเภทนี้จะนึกถึงจุดแข็งของสมาชิกในทีมก่อนเสมอ และในขณะเดียวกันก็ช่วยคนในทีมปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของพวกเขาด้วย

2. จับตาดู VS สอน

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตาของผู้นำประเภทบอสไปได้ เขาจะเฝ้าดูการกระทำของคนในทีมและวิเคราะห์ทุกข้อผิดพลาดของพวกเขา คนลักษณะนี้มักวิพากษ์วิจารณ์คนในทีมและข่มขู่ให้เกิดความกลัวเมื่อคนในทีมทำงานได้ไม่ดี

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: จะคอยมองหาวิธีพัฒนาทีมของตัวเอง ผู้นำประเภทนี้จะชื่นชมความสำเร็จของคนในทีมและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุปสรรคและปัญหาเกิดขึ้น

3. ได้ยิน VS รับฟัง

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: ผู้นำประเภทนี้จะรับฟังข้อมูลจากทีมของเขา แต่จะไม่ทำอะไรต่อเลย เพราะเขาเชื่อว่าคนในทีมควรแก้ไขปัญหาด้วยตัวของพวกเขาเองและทำงานให้สำเร็จตามที่เขากำหนด แต่จะไม่มีคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะถ้าไม่จำเป็น

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: การรับฟังคนในทีมมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของผู้นำ คนลักษณะนี้จะสนับสนุนข้อเสนอแนะต่างๆ และช่วยแก้ปัญหาเมื่อมีข้อผิดพลาดหรือมีความกังวลเกิดขึ้น ความคิดใหม่ ๆ ของลูกทีมจะถูกจัดว่ามีคุณค่าเทียบเท่ากับความคิดของเขาเองเลยทีเดียว

4. ออกคำสั่ง VS สอบถาม

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: “ฉันต้องการให้คุณทำงานนี้” “คุณต้องทำงานให้เสร็จภายในวันศุกร์” เมื่อผู้นำลักษณะนี้ออกคำสั่ง คนในทีมต้องตอบรับและทำตามคำขอของเขาโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงหรือแสดงความเห็น เมื่องานที่ทำเสร็จไม่ตรงตามเวลา คนในทีมก็จะถูกดุและถูกต่อว่าจากหัวหน้าประเภทนี้

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: “คุณคิดเห็นยังไง?” “คุณสามารถทำงานนี้ให้เสร็จภายในวันศุกร์ได้หรือเปล่า?” ผู้นำประเภทนี้จะต้องถามให้แน่ใจก่อนว่าคนในทีมของเขามีเวลาและไหวพริบที่จะทำงานให้เสร็จทันกำหนดเวลาได้หรือไม่ ถ้าหากไม่ เขาจะหาวิธีเอื้อประโยชน์ให้ลูกทีมได้รับความสะดวกสบาย และสบายใจทั้งสองฝ่ายโดยไม่มีการตำหนิ

5. โยนงาน VS ดูแลรายละเอียดของงานอย่างใกล้ชิด

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: ผู้นำประเภทนี้จะทำเพียงแค่ตัดสินใจแล้วทิ้งงานไว้ให้กับทีมของเขา เวลาถูกถามถึงรายละเอียดงานจึงไม่สามารถตอบได้ และจะไม่สนใจใยดีจนกว่าจะมีผลกระทบโดยตรงกับเขา การเป็นผู้นำแบบไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือ Hands-off style ก่อให้เกิดการปิดบังปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในทีม ซึ่งอาจทำให้ผลงานที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: ผู้นำประเภทนี้จะให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็เอาใจใส่เมื่อเขาต้องการมีส่วนร่วมด้วย สมาชิกในทีมจะรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทันที เพื่อให้มีการแก้ไขและจัดการได้อย่างเหมาะสม และเมื่อจำเป็นจริง ๆ ผู้นำประเภทนี้จะเข้ามาร่วมลงมือทำงานด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าจะทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร

6. จู้จี้ขี้บ่น VS สนับสนุน

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: ผู้นำประเภทที่เชื่อว่างานต้องมาก่อน นั่นหมายความว่าเขาต้องสามารถติดต่อสมาชิกในทีมของเขาได้ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ไม่มีข้อแก้ตัวว่าทำไมบางอย่างถึงไม่สามารถทำได้เมื่อเขาต้องการ

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: ผู้นำประเภทนี้จะเข้าใจถึงความจำเป็นของการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (work life balance) เขาสนับสนุนให้ทีมมีการพักเบรคนาน ๆ อีกทั้งเขายังเคารพเวลาของสมาชิกในทีมหลังจากที่หมดไปจากการทำงานและโปรเจคต่าง ๆ อีกด้วย

7. เป้าหมายไม่ชัดเจนและเป็นไปไม่ได้ VS เป้าหมายชัดเจนและสมเหตุสมผล

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: ผู้นำประเภทนี้ต้องการทำงานให้บรรลุเป้าหมายทุกวิถีทาง แต่ด้วยอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของเขาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ จึงทำให้สมาชิกภายในทีมเกิดความสับสนและผิดหวัง พวกเขากลัวที่จะถามคำถาม ดังนั้นเวลาจึงหมดไปกับการจัดลำดับความสำคัญของงานและกลยุทธ์ในการทำงาน

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: ความสำคัญสูงสุดของผู้นำประเภทนี้คือการทำให้แน่ใจว่า ทุกคนในทีมมีเป้าหมายร่วมกัน เขาสร้างทีมแบบ *OKRs (Objectives & Key Results) *คือการตั้งเป้าหมายให้แต่ละคน โดยเป้าหมายของทุก ๆ คนสอดคล้องกันทั้งองค์กร  เพื่อช่วยให้ทีมเข้าใจวัตถุประสงค์หลักและวิธีการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทีม

8. “ฉันถูกเสมอ” VS “การเป็นผู้นำและการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้” – John F. Kennedy

ผู้มีบุคลิกแบบ Boss: “ฉันถูกเสมอ” ผู้นำประเภทนี้จะคิดว่าเขารู้ดีที่สุด ทุกคนห้ามตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจและการตัดสินใจของเขา ผู้นำแบบบอสนี่แหละที่จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ มีความสุข หรือมีทีมที่สนับสนุนเขาจนกว่าเขาจะตัดสินใจเรียนรู้วิธีการเป็นผู้นำที่ดีเสียก่อน

ผู้มีบุคลิกแบบ Leader: “การเป็นผู้นำและการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้” – John F. Kennedy ผู้นำประเภทนี้จะเหมือนกับเป็นนักเรียนมากเท่ากับการเป็นครู เขาจะขอความคิดเห็นหรือคำติชมเกี่ยวกับวิธีการที่ทำให้ตัวเขาเองเป็นผู้นำที่ดีขึ้น เป็นผู้ถ่ายทอดที่ดีขึ้น และมองภาพรวมการทำงานของทีมได้ดีกว่าเดิม

ตอนนี้คุณกำลังเป็นผู้นำแบบไหน? ลองให้คำตอบกับตัวเองดู หากอยากเป็นผู้นำที่ดี ลูกทีมรัก เคารพ และให้ความนับถือ ก็อย่าลืมเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำให้การทำงานกับลูกทีมสำเร็จได้อย่างแน่นอน

 ข้อมูลจาก thebusinesstimes

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *