1 มีนา เทศกาลเมอซิชอร์ (Mărțișor)

เมอซิชอร์ (Mărțișor) เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการเฉลิมฉลองทั่วโรมาเนียทุกปีในวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งชื่อ Mărțișor เป็นชื่อย่อของเดือนมีนาคม (Martie) ในภาษาโรมาเนีย

โดยในเทศกาลนี้ชาวโรมาเนียจะมอบเชือกสีแดง-ขาวให้แก่กัน ว่ากันว่าผู้ที่สวมเชือกนี้จะเป็นปีแห่งความมั่งคั่งและสุขภาพแข็งแรง

สมัยก่อนผู้คนในชนบทเคยเฉลิมฉลองเมอซิชอร์ (Mărțișor) ด้วยการแขวนเชือกสีแดง-ขาวที่ประตู หน้าต่าง เขาวัว และโรงเก็บของ เพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายและเรียกพลังแห่งการฟื้นฟูของธรรมชาติ

ในมอลโดวาและบูโควีนานิยมห้อยด้ายสีแดง-ขาวกับเหรียญทองหรือเหรียญเงินขนาดเล็ก หลังจากห้อยเชือกเหรียญนี้ครบ 12 วัน ผู้หญิงจะนำเงินนี้ไปซื้อเนยแข็งสดโดยหวังว่าผิวของพวกเธอจะมีสุขภาพดีและสวยงามตลอดทั้งปี

จากการวิจัยทางโบราณคดีพบว่าเมอซิชอร์ (Mărțișor) มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์กว่า 8,000 ปีที่แล้ว นักชาติพันธุ์วิทยาบางคนเชื่อว่าการเฉลิมฉลองเมอซิชอร์ (Mărțișor) มีต้นกำเนิดมาจากชาวโรมัน นอกจากนี้นักชาติพันธุ์วิทยาบางคน ก็สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวดาเซียน (Dacian)

วันปีใหม่ในกรุงโรมสมัยโบราณมีการเฉลิมฉลองกันในวันที่ 1 มีนาคม (Martius) ซึ่งมีการตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพมาร์ส (Mars) ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเทพเจ้าแห่งสงครามเท่านั้น  แต่ยังเป็นเทพเจ้าแห่งเกษตรกรรมอีกด้วย โดยมีส่วนช่วยในการเกิดใหม่ของพืชพรรณ ชาวดาเซียนได้ฉลองปีใหม่ในวันแรกของเดือนมีนาคม ซึ่งการเฉลิมฉลองเพื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลินี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

ในสมัยโบราณเมอซิชอร์ (Mărțișor) ได้มีการนำกรวดเล็ก ๆ ริมแม่น้ำร้อยด้วยด้ายสีแดง-ขาวเพื่อนำมาห้อยคอไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม จนกว่าต้นไม้ต้นแรกจะผลิดอกออกผล เชื่อว่าการสวมสร้อยเช่นนี้จะนำความโชคดีและอากาศดีมาให้ เมื่อต้นไม้ต้นแรกออกดอกเมอซิชอร์ (Mărțișor) ก็จะถูกนำแขวนไว้บนกิ่งไม้แทน

ในปัจจุบันวันที่ 1 มีนาคมชาวโรมาเนียจะซื้อด้ายสีแดง-ขาว (șnur) ผูกเป็นโบว์ติดไว้เป็นเครื่องประดับเล็ก ๆ น้อย ๆ และมอบให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน เพื่อแสดงมิตรภาพ ความเคารพ หรือความชื่นชมที่มีให้แก่กัน ซึ่งหากได้รับเมอซิชอร์ (Mărțișor) ผู้รับก็จะพกติดตัวเสมือนเครื่องราง เมื่อครบ 1 เดือน ก็จะนำด้ายนี้ไปผูกโบว์ห้อยไว้กับกิ่งไม้ เชื่อว่าเพื่อนำความมั่งคั่งมาสู่ผู้รับและครอบครัวนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *