หากใครกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรใกล้กรุงเทพฯ ได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นจริง ๆ แนะนำว่าให้ลองมานั่งเรือเที่ยวชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ณ บ้านศาลาดินกันดู เพราะที่นี่เป็นชุมชนเกษตรที่รวมตัวกันนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้พวกเราได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับได้รับความสุขสนุกสนานไปในตัว

การเดินทางมาเที่ยวเพื่อล่องเรือที่คลองมหาสวัสดิ์นั้นง่ายมาก ๆ เพียงแค่เดินทางมาที่ม.มหิดลศาลา แล้วเลี้ยวซ้ายไปประมาณอีก 4 กม. แล้วก็ขับรถเลียบทางรถไฟก็จะเจอกับบ้านศาลาดิน

เมื่อมาถึงที่บ้านศาลาดินแล้วไปติดต่อนั่งเรือเที่ยวได้ที่ร้านกาแฟสดตามภาพด้านล่างนี้เลย

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ร้านกาแฟก็จะอธิบายรายละเอียดรวมถึงค่าใช้จ่ายของการล่องเรือชมสวนเรียบคลองมหาสวัสดิ์ โดยราคาจะคิดจากส่วนแรกค่านั่งเรือลำละ 350 บาท แต่ละลำนั่งได้สูงสุด 6 คน และส่วนที่สอง นักท่องเที่ยวจะจ่ายอีกคนละ 100 บาท เพื่อเป็นค่าเช็คอินของสถานที่ท่องเที่ยวในทริปทั้ง 5 จุดนั่นเอง

(ดังนั้นเราไปกัน 2 คน ก็เท่ากับ 350 + 200= 550 บาท แต่วันที่เราไปมีจุดเช็คอินจุดนึงที่ไม่เปิด เจ้าหน้าที่ก็เลยคืนเงินเรามา 40 บาท) ซึ่งเมื่อไปถึงจุดเช็คอินต่าง ๆ อยากอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นอื่น ๆ ก็สามารถอุดหนุนเพิ่มเติมได้เลย

การท่องเที่ยวล่องเรือพี่เจ้าหน้าที่อธิบายว่าคนท้องที่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนจะเป็นคนพาเที่ยวซึ่งเขาก็จะมีงานที่ต้องทำเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาก็จะวางมือจากงานของตัวเองแล้วมาขับเรือพานักท่องเที่ยวชมสวนเที่ยวถือเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะแวะที่จุดเช็คอินแต่ละจุดนานเท่าไรก็ได้แล้วแต่เรา

นอกจากนี้ยังมีตลาดให้เดินชอปปิงที่ตั้งอยู่ที่บ้านศาลาดิน ที่นี่จะมีร้านอาหาร และสินค้าเกษตรวางขาย วันเสาร์-อาทิตย์คนในชุมชนจะนำสินค้าของแต่ละคนมาแบ่งขายที่นี่ เพราะฉะนั้นสินค้าที่นี่จึงมีราคาไม่แพง เป็นราคาแบบท้องถิ่นจริง ๆ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่บ้านศาลาดินก็มีมาเรื่อย ๆ ทำให้ตลาดแห่งนี้ไม่เงียบเหงา

ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ติดต่อเรือให้ เราก็เลยไปเดินชมตลาด และไปดูสาธิตการทำข้าวตังที่บ้านศาลาดินกันก่อนเพราะตั้งอยู่ติดกับร้านกาแฟเลย

ทำข้าวตังรสเด็ดที่ “บ้านศาลาดิน

จุดสาธิตการทำข้าวตังก็จะอธิบายถึงวิธีการทำข้าวตัง และให้นักท่องเที่ยวได้ปรุงรสหน้าข้าวตังด้วยตนเอง และเปิดสอนให้กับผู้ที่บุคคลทั่วไปที่สนใจทำข้าวตังขายเป็นอาชีพให้ได้เรียนรู้แบบไม่กั๊กสูตรกันอีกด้วย

วิธีทำข้าวตัง

วัตถุดิบที่ใช้ทำข้าวตังจะใช้ข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอร์รีปกติเลยจ้า

  • เริ่มต้นจากหุงข้าวให้สุก แล้วตั้งทิ้งไว้สัก 20 นาทีเพื่อให้ข้าวระอุ
  • จากนั้นก็นวดข้าวให้เหนียวเข้าด้วยกัน แล้วตักข้าววางไว้บนแผ่นพลาสติก
  • กดข้าวให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วใช้บล็อกกดตามรูปตามแบบที่ต้องการ

  • จากนั้นนำข้าวที่พิมพ์บล็อกแล้วตากทิ้งไว้ 2 วัน จะได้ข้าวตังแผ่น

  • เมื่อตากทิ้งไว้เรียบร้อยแล้วก็นำไปทอดในน้ำมันพอเหลือง หน้าตาจะออกมาตามภาพด้านล่างแบบนี้

ส่วนผสมการทำน้ำปรุงทาหน้าข้าวตังมีดังนี้

รากผักชี 50 กรัม กระเทียม 100 กรัม พริกไทยป่น 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 500 กรัม น้ำตาลปี๊ป 500 กรัม น้ำพริกเผา 100 น้ำสะอาด 2 ถ้วยตวง และเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำน้ำปรุงทาหน้าข้าวตัง

โขลกผักชี กระเทียม พริกไทยให้ละเอียด แล้วผสมน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊ป พริกเผา น้ำสะอาด และเกลือเข้าด้วยกัน เคี่ยวให้เหนียวและยกลงทิ้งไว้ให้เย็น

จากนั้นก็นำน้ำปรุงข้าวตังมาทาลงบนแผ่นข้าว โดยที่เจ้าหน้าที่ให้เราสามารถตกแต่งหน้าได้ข้าวตังได้เองตามใจชอบเลย ชิมกี่ชิ้นก็ได้ด้วย เป็นการชิมข้าวตังสดที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ

∩(︶▽︶)∩

ซึ่งวิธีทำข้าวตังสำเร็จรูปก็คล้ายกัน เพียงแค่ข้าวตังสำเร็จรูปจะเป็นการนำข้าวตังที่ตกแต่งหน้าเสร็จเรียบร้อยแล้วเข้าเตาอบอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อนำออกจากเตาก็ทิ้งไว้ให้เย็น บรรจุใส่ภาชนะที่มีฝาปิดแน่นนา วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณน้ำมันในแผ่นข้าวตัง และทำให้ข้าวตังกรอบนานมากยิ่งขึ้น

******************************

หลังจากที่รอเรือได้สักพัก เรือก็มาแล้ว

จุดที่สองที่เรากำลังจะไปเช็คอินก็คือ

เก็บดอกบัวไปไหว้พระที่ “นาบัวลุงแจ่ม

การทำนาบัวเป็นอีกหนึ่งอาชีพของชาวคลองมหาสวัสดิ์ที่ทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยจุดเช็คอินนี้มีกิจกรรมที่ให้เราทำทั้งการชมนาบัวตัดดอก เรียนรู้การทำนาบัว พายเรือเก็บบัวกลางบึง และการพับดอกบัว

นาบัวลุงแจ่มมีคาเฟ่ด้วยนะ หากใครสะดวกอยากขับรถมาสัมผัสบรรยากาศสบาย ๆ พายเรือเก็บดอกบัวที่นาบัวลุงแจ่มโดยตรงเลยก็ได้เช่นกัน

เราเดินเลยคาเฟ่ไปที่ศาลาใหญ่กลางน้ำ เป็นโซนสำหรับลงเรือเก็บดอกบัว

ที่นาบัวลุงแจ่มมีดอกบัว 2 สายพันธุ์ คือ บัวสัตตบุษย์ (บัวที่มีกลีบดอกสีขาว) และบัวสัตตบงกช (บัวที่มีกลีบดอกสีชมพูอมม่วง) ดอกบัวจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อน เวลาเก็บบัวเขาก็จะลงไปเดินเก็บในน้ำเลย บัวที่นี่เป็นบัวที่เขาใช้ส่งออกไปขายที่ปากคลองตลาด ตามวัด และส่งออกไปขายต่างประเทศอีกด้วย

คุณลุงที่ทำหน้าที่เป็นทั้งคนขับเรือและเป็นไกด์พาเที่ยวในคนเดียวกัน ก็ทำหน้าที่พายเรือในนาบัวให้เราอีกเช่นเคย ให้เราถ่ายรูปและเก็บดอกบัว

คุณลุงที่พายเรือก็ให้เราเด็ดบัวขึ้นมาได้เลย ซึ่งเป็นบัวที่เขาไม่ใช้แล้ว ก็เลยเด็ดมาดอกนึง

หลังขึ้นจากเรือก็ดื่มชาเกสรดอกบัว รสชาติดีมาก

ให้อาหารปลากันก่อนกลับ

คลิปสั้น ๆ  ณ นาบัวลุงแจ่มจ้า

******************************

เมื่ออยู่เที่ยวที่นาบัวลุงแจ่มกันจนหนำใจแล้ว ก็พร้อมไปจุดเช็คอินต่อไป

ไปนั่งรถอีแต๊กกัน!

ถึงแล้ว..รอลุงผูกเรือแปป

นั่งรถอีแต๊กชมสวนที่ “สวนผลไม้ฯลุงบุญเลิศ (ป้าแจ๋ว)

สวนผลไม้ที่พลิกฟื้นจากวิกฤตน้ำท่วมจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญของชุมชน ซึ่งไฮไลท์ของที่นี่อยู่ที่การนั่งรถอีแต๊กชมไร่นา ในส่วนนี้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 100 บาท (อีแต๊กคันนึงนั่งได้สูงสุด 10 คน)

การต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบอบอุ่น ตามแบบฉบับของคุณลุงและคุณป้าเจ้าของสวนผลไม้ทำให้เราประทับใจมาก ๆ

ที่สวนผลไม้แห่งนี้มีผลไม้และของว่างต้อนรับแขกมากมายอุดมสมบูรณ์จริง ๆ มีชาเกสรบัวที่ทางสวนปลูกอีกให้ลองชิมด้วย

ก่อนที่จะมานั่งชิว ๆ กินขนมต่อก็ไปนั่งรถอีแต๊กชมสวนกันก่อน

เตรียมสตาร์ทรถ

นั่งรถอีแต๊กขาไป นั่งชมสวนชิว ๆ ถ่ายรูปกันเพลินเลย

ผ่านทุ่งนา ให้เราแวะลงไปถ่ายรูปกันได้

เมื่อมองไปลิบ ๆ สวนแห่งนี้อยู่ติดกับหมู่บ้านจัดสรรเลย

พร้อมเดินทางต่อแล้ว ขากลับลุงเจ้าของสวนขับซิ่งมากสนุกสุด ๆ (เตรียมจับราวไว้ให้แน่น ฮาาา)

ท่าเลี้ยวโค้งของรถอีแต๊ก เอี้ยวสุดตัวมาก

ดูลีลาการขับรถอีแต๊กของคุณลุงสวนผลไม้ลุงบุญเลิศได้ที่ด้านล่างนี้เลย

เมื่อนั่งรถอีแต๊กจนวนครบรอบเสร็จแล้วก็กลับมาทานขนมต่ออีกรอบ ที่บ้านสวนแห่งนี้มีของท้องถิ่นวางขายมากมายทั้งผลไม้จากทางสวนเอง และขนมที่คนในชุมชนมาฝากวางขาย

ก่อนกลับคุณลุงคุณป้าเจ้าของสวนผลไม้ก็ให้เราเขียนความรู้สึกลงในสมุดเยี่ยมเป็นที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาเที่ยวที่สวนแห่งนี้

เมื่อทานของว่างจากสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปคือ ฟาร์มกล้วยไม้

******************************

ถ่ายรูปสวย ๆ ที่ “ฟาร์มกล้วยไม้คุณสร้อย

ฟาร์มกล้วยไม้ที่รวบรวมกล้วยไม้มากมายหลายพันธุ์ ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิธีการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ รวมถึงจำหน่ายกล้วยไม่ราคาไม่แพงด้วย (ต้นละ 10 บาทเท่านั้น)

เมื่อขึ้นจากเรือก็ข้ามถนนมายังฟาร์มกล้วยไม้ ทางเข้าอาจจะดูน่ากลัวสักหน่อย แต่ด้านในมีฟาร์มกล้วยไม้ และบ้านคนอยู่จ้า

วิธีเพาะพันธุ์กล้วยไม้ลงบนกาบมะพร้าว หรือจะนำต้นกล้วยไม้ไปผูกกับเสาร์ก็เป็นวิธีการปลูกกล้วยไม้อีกวิธีหนึ่ง

กล้วยไม้ออกดอกบานสะพรั่ง

กล้วยไม้งาม ๆ หลากหลายสี

เมื่อถ่ายรูปและชอปปิงกล้วยไม้เรียบร้อยแล้วก็ได้เวลากลับบ้าน (มีกล้วยไม้ที่เขาทิ้งแล้ว แต่มันยังไม่ตายไม่เหมาะสำหรับนำไปขาย คุณลุงก็หยิบเก็บมาให้เราเพิ่มด้วย ลุงใจดีมาก ๆ จริง ๆ)

******************************

ระหว่างทางกลับเราผ่านบ้านฟักข้าวที่ในวันที่เราไปเที่ยวจุดเช็คอินนี้ไม่เปิดให้บริการ แต่คุณลุงคนขับเรือก็พาแวะให้ถ่ายรูป (คุณลุงใจดีมากกกก นักท่องเที่ยวอย่างฉันประทับใจสุด ๆ) แถมบอกว่าให้ขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนได้เลยด้วย

ชิมน้ำฟักข้าวที่ “บ้านฟักข้าวขนิษฐา

ซึ่งจุดเช็คอินสุดท้ายที่เขาไม่เปิดให้เข้าชมในวันนี้ หากใครมีโอกาสได้แวะมาที่นี่จะมีสาธิตการทำน้ำฟักข้าวให้นักท่องเที่ยวได้ลองดื่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้ฟังการ “แหล่ฟักข้าว” จากคุณยายเจ้าของที่นี่ ซึ่งจากที่เราได้ลองดูคลิปและหาข้อมูลมาล่วงหน้านี่คือสิ่งที่พลาดไม่ได้จริง ๆ

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการให้ความรู้ในการปลูกฟักข้าว สาธิต และขายผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว เช่น น้ำฟักข้าว เย็นตาโฟน้ำฟักข้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ จากน้ำฟักข้าว เช่น สบู่ล้างหน้า โลชั่นทาผิว เป็นต้น

ตอนที่เราแวะถ่ายรูปคุณป้าที่อาศัยอยู่ที่นี่ก็ออกมาคุยด้วยเล็กน้อย

สีส้ม ๆ นี่แหละผลฟักข้าว

******************************

หากต้องการมาเที่ยวที่ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ก็สามารถเดินทางมาที่บ้านศาลาดินได้เลยที่นี่เปิดให้บริการวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 8.00 น. – 17.00 น. วันนี้เราต้องขอตัวลาไปก่อนทั้งอิ่ม และสนุกมากกกก ๆ

🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *