มาบ่อยก็ไม่เบื่อ..พาไขรหัสความเป็นไทย ในมิวเซียมสยาม

เมื่อพูดถึง “ความเป็นไทย” นึกถึงอะไรกัน แน่นอนว่ามีหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น มวยไทย ชุดไทย วัดวาอาราม ตุ๊กตุ๊ก ผัดไทย ฯลฯ ที่มิวเซียมสยามแห่งนี้จะช่วยไขข้อสงสัย พาเราถอดรหัสไทย ให้คนไทยรุ่นใหม่อย่างพวกเราเข้าใจความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น

การเดินทางมาเที่ยวที่มิวเซียมสยามก็ง่ายมาก ๆ หาไม่ยากเลยเพราะอยู่ใกล้ ๆ กับวัดโพธิ์ เราเดินเข้าทางประตูข้างพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมาทางปากคลองตลาด ที่จริงแล้วมาได้หลายทาง หากสะดวกเดินทางด้วยรถประจำทางสายที่ผ่าน ได้แก่ สาย ๓ ๖ ๙ ๑๒ ๔๗ ๕๓ ๘๒ และ ๕๒๔  หรือหากมาทางเรือให้ไปขึ้นที่ท่าราชินีหรือท่าเตียน แล้วเดินเข้าทางสนามไชยประมาณ ๑๕๐ เมตร

เมื่อถึงที่หมายแล้วก็เข้าไปซื้อตั๋วด้านในสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มาเป็นหมู่คณะเกิน ๕ คนขึ้นไป ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็กนักเรียน นักศึกษา ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๐๐ บาท

จะได้ตั๋วเข้าชมพร้อมเอกสารแนะนำนิทรรศการมาหน้าตาประมาณนี้

บัตรเข้าชมน่ารัก เว้นช่วงใบหน้าไว้ให้ถ่ายรูปเก็บเอาไว้สนุก ๆ ได้ด้วย

เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้ขึ้นไปเดินชมที่ชั้น ๓ ก่อนเลย

โซนแรกที่เราเข้าไปดู โซน “ไทยตั้งแต่เกิด” ซึ่งจะจัดแสดงถึงลำดับเวลาและวิวัฒนาการความเป็นไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในรูปแบบของลิ้นชักอัตโนมัติ ที่มาทั้งรูปจำลองและเสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจให้เราเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ เลยทีเดียว

หน้าตาตู้จำลองก็จะเล่าเรื่องราววิวัฒนาการความเป็นไทย และขยับขึ้นลงประมาณนี้ (ไปดูเต็ม ๆ ในพิพิธภัณฑ์นะ)

เมื่อเดินมาที่ห้องข้าง ๆ กันมาในคอนเซ็ปต์ “ไทยสถาบัน” ให้ผู้เข้าชมต่อจิ๊กซอว์ให้มีสัญลักษณ์ตรงกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ หมวดหมู่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หากรวมกลุ่มถูก ก็จะมีภาพสวย ๆ บนผนังปรากฎขึ้น

ถัดมาที่โซน “ไทยแปลไทย” เป็นการจัดแสดงสำดับและพัฒนาการคความเป็นไทย โดยที่เราสามารถเปิดลิ้นชักที่อยู่ในห้องนี้เพื่อถอดรหัสว่าทำไมของเหล่านั้นจึงเป็นไทย

 เมื่อถึงโซน “ไทยอลังการ” ห้องนี้ได้จำลองท้องพระโรงของพระราชวัง ที่มีที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เปรียบเสมือนกับที่ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติไทยโบราณ

เมื่อเดินทะลุมาด้านหลังก็จะเจอกับโซน “ไทยแค่ไหน” ด้วยการแต่งกายต่าง ๆ ที่ล้วนแสดงถึงความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นชุดไทย การแต่งกายแต่ละยุคแต่ละสมัย ชุดพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ไกลเมืองหลวงความเป็นไทยก็เจือจางลงไป หุ่นแมคโดนัลด์ก็เช่นกัน เป็นฝรั่งแท้ ๆ แต่พอยกมือไหว้เท่านั้นแหละกลายเป็นความไทย ๆ ขึ้นมาเฉยเลย หรือแม้แต่ชุดสีดำสุดเซ็กซี่ ที่พอสวมชฎาก็บ่งบอกถึงความเป็นไทย

ซึ่งที่จริงแล้วประเด็นนี้จะอยู่ในอีกห้องหนึ่งเป็นห้อง “ไทยรึเปล่า?” (ซึ่งเราไม่ได้ถ่ายรูปมา) เป็นห้องที่มีหุ่นชุดไทยโดด ๆ อยู่กลางห้อง และรวบรวมข้อคิดเห็นจริง ๆ บนเว็บบอร์ดที่ถกเถียงและตั้งคำถามถึงการแสดงความเป็นไทย อย่างเช่น เลดี้กาก้าสวมชฎา แต่ใส่ชุดยวน ๆ เซ็กซี่ ๆ เหล่านี้แสดงถึงความเป็นไทยหรือเปล่า?

เมื่อออกมาจากห้อง “ไทยรึเปล่า?” ก็เดินลงไปถอดรหัสไทยที่ชั้นสอง มีหลายห้องพอสมควร เราจะไล่ดูจากห้องฝั่งริมสุดไล่ไปเรื่อย ๆ

ห้องแรกที่เราเดินเข้ามาเป็นการจัดการแสดงในชื่อ “ไทยแชะ” โดยที่ให้เราเลือกเสื้อผ้า เครื่องประดับ เลือกฉากให้ตรงยุค แล้วเข้าไปถ่ายภาพได้ ใครชอบถ่ายภาพและชอบถูกถ่ายภาพก็คือห้ามพลาด

มาที่ห้องถัดไปมาในหมวด “ไทยประเพณี” ต้องบอกก่อนว่าห้องนี้คนแน่นมาก เราเดินเข้าออก ๒ รอบก็ยังคนแน่น ความสนุกของห้องนี้อยู่ภายในกล่อง โดยที่กล่องสีส้มคือ เรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีไทย กล่องสีน้ำเงินเกี่ยวกับมารยาท ซึ่งภายในแต่ละกล่องจะมีแผ่นพับบอกเล่าความเป็นไปของหัวข้อนั้น ๆ บางกล่องมีเกมให้เล่น มีของให้ขยับ หรือใส่ถ่ายรูปขำ ๆ ก็ย่อมได้ 

ถัดมาเรามาอยู่ในห้อง “ไทย Only” เป็นห้องที่มีของเฉพาะที่ไทย จากการที่คนไทยคิด ไทยทำ ไทยใช้ เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นของรอบ ๆ ตัวที่คุ้นเคยแต่แสดงถึงวิธีคิดแบบไทยไทยได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น รองเท้าช้างดาว ถุงแกง ถุงโอเลี้ยงมัดหนังยาง ที่ใส่เครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

ถัดมาที่ห้อง “ไทย INTER” ซึ่งบอกเล่าถึงสิ่งที่ ไทยเสนอ เทศสนอง ซึ่งห้องนี้ก็เหมือนกับแซะความเป็นไทยเบา ๆ เพราะสิ่งที่ ไทยเสนอ เป็นสิ่งที่เราคนไทยมักภูมิใจนำเสนอความเป็นไทยไฮโซ ประณีต สวยงาม ซึ่งมักจะเห็นได้เฉพาะในพิพิธภัณฑ์ หรือในโรงแรมหรู ๆ เท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ เทศสนอง หรือที่คนต่างชาติเข้าใจในความเป็นไทยกลับเป็นความเป็นไทยที่เรียบง่าย เป็นของที่เห็นได้ใกล้ ๆ ตัวตามท้องถนน คนทั่วไปใช้งานจริง ๆ และมีชีวิตชีวา แต่คนไทยรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะนำไปโชว์ชาวต่างชาติ

เมื่อลองส่องภายในกล่องดูแล้วขยับซ้าย ขวา ก็จะมีภาพที่เปรียบเทียบถึงสิ่งที่ ไทยสนอง แสดงความเป็นไทยที่อยากจะเสนอให้ชาวต่างชาติดู และความเป็น เทศสนอง ที่ต่างชาติเข้าใจจับคู่ไว้ในกล่องใบเดียวกัน อย่างเช่น เมื่อพูดถึงการจัดวางผลไม้ไทย

ซ้าย: สิ่งที่ไทยเสนอ ขวา: สิ่งที่เทศสนอง

ถัดมาที่ห้อง “ไทยเชื่อ” บอกเล่าถึงความเชื่อต่าง ๆ ที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบ พราหมณ์ พุทธ ผี มารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุบูชาทางพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ รูปจำลองเกจิอาจารย์ ศาสนาพราหมณ์ อันได้แก่ เทวรูปต่าง ๆ ชุดพราหมณ์ สังข์ เสาชิงช้า  วัตถุบูชาเกี่ยวกับผี เช่น ศาลพระภูมิ จอมปลวก ผีเปรต ปลัดขิก นางกวัก กุมาร ลูกเทพ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ ที่เหล่าคนไทยเคารพนับถือ เคารพสิ่งไหนก็บูชาสิ่งนั้นได้เลย 

▼เข็มกลัดโดเรม่อนปลุกเสก ⊙0⊙▼

▼ระหว่างเดินดูอยู่ก็คิดว่าใช่ของจริงไหมน้อ แอบหลอน (°△°|||)▼

ถัดมาที่ห้องถัดไป “ไทยวิทยา” จำลองบรรยากาศการเรียนของทั้ง ๔ ยุค ที่ใช้ในการปลูกฝังความเป็นไทย โดยจะแบ่งออกเป็น ๔ ฝั่งตามแต่ละยุค

  • ฝั่งแรกด้านซ้ายมือ เป็นห้องเรียนสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากผู้นำในสมัยนั้นต้องการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตย (มีปุ่มกดให้ฟังเพลงในยุคนั้น และสามารถหยิบแบบเรียนในเก๊ะมาอ่านได้อีกด้วย)
  • ถัดมาฝั่งตรงข้าม สมัยหลัง ๒๕๐๐ มีแบบเรียนของ เรณู ปัญญา เป็นแบบเรียนหลัก รวมถึงเน้นสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นหลัก
  • ถัดมาเป็นห้องเรียนสมัย ๒๕๓๐ ในยุคนี้ใช้แบบเรียน มานะ มานี และนอกจากจะเน้นสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังเน้นในเรื่องชีวิตกสิกรรม และสำนึกรักในท้องถิ่นด้วย
  • และสุดท้ายในยุค ๒๕๔๐ ที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา ในยุคนี้เริ่มเปลี่ยนมาใช้แบบเรียน ดรุณศึกษา เป็นยุคที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาทสูงสุด มีการกล่าวถึงพระราชกรณียกิจ และแนวคิดปรัชญาพอเพียงในแบบเรียนและสื่อต่าง ๆ แม้แต่ในหนังสือการ์ตูน ขายหัวเราะ

▼มีตัวปั้มแบบสมัยก่อนให้ลองปั้มด้วย เมื่อก่อนชอบให้คุณครูปั้มรูปดาว ๓ ดาว ไม่ก็ปั้มคำว่าดีมากให้▼

 ▼กลอนบนกระดานดำที่บอกเล่าเรื่องราวในพ.ศ. ๒๕๐๐▼

▼เรื่องราวในพ.ศ. ๒๔๗๕▼

▼การใช้ภาษาไทยในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม▼

▼มีเสื้อผ้าให้ใส่ถ่ายรูปด้วย▼

ถัดมาที่ห้อง “ไทยชิม” มีอาหารไทยหลากหลายเมนูที่เราคนไทยคุ้นเคยให้เรารู้จักได้มากยิ่งขึ้น ภายในห้องนี้จะบอกเล่าถึงแหล่งกำเนิดและความเข้าใจในอาหารแต่ละชนิด โดยที่เราสามารถหยิบจานด้านหลังมาอ่านเพื่อไขข้อข้องใจได้เลย

นอกจากนี้คุณยังสามารถหยิบจานเปล่ามาวางที่โต๊ะตัวใหญ่กลางห้อง มีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและอังกฤษ เมื่อนำจานมาวาง อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ก็จะสร้างสรรค์อาหารไทย ให้เราลุ้นว่าอาหารที่ทำออกมาคืออะไร เห็นเด็ก ๆ ชอบกันมาก มาเล่นกันใหญ่เลย

▼นี่ฉันกินถุงลมของปลามาตลอดหรอเนี่ย เข้าใจว่าเป็นแป้งมาตลอด ⊙﹏⊙▼

ถัดมาเรามาอยู่กันที่ห้อง “ไทยดีโครต” ในห้องนี้เราจะได้เรียนรู้ศิลปกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นพระปรางค์บนโต๊ะที่อยู่กลางห้อง ที่แสดงให้เห็นถึงการคลี่คลายรูปทรงจากเทวสถานในอินเดียใต้ สู่ปราสาทหินของขอม มาถึงปรางค์ในสมัยอยุธยา จนถึงพระปรางค์วัดอรุณอันงดงาม

ลองเปิด Flip book ที่ติดอยู่รอบ ๆ ห้องดู เปิดแบบเร็ว ๆ จะเห็นภาพเคลื่อนไหวแสดงถึงวิวัฒนาการของตัวอักษรไทย ครุฑ เรือสุพรรณหงส์ หัวโขน โจงกระเบน กระทง เสื้อลายดอก จากต้นทางที่เป็นของต่างชาติ สู่ความเป็นไทยจนถึงทุกวันนี้

กลับลงมาที่ชั้นหนึ่งใกล้กับบริเวณที่ซื้อตั๋ว ที่ชั้นหนึ่งจะประกอบไปด้วยร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟดิโอโร่

มาเดินดูของระลึกสักแปป มีแต่ของน่าชอปปิงทั้งนั้นเลย

 ▼เข็มกลัด Fast&Furious รถเมล์สาย 8▼

▼โปสการ์ดลายน่ารัก ๆ ▼

▼ดินสอความเชื่อ พกเข้าห้องสอบก็เริ่ดอยู่นะ▼

▼เข็มกลัด ไทยเท่▼

▼ดินสอ ปากกาหัวรถตุ๊กตุ๊ก▼

▼สมุดจดที่ทำจากไม้▼

▼โปสการ์ดที่ทำจากไม้ หนาพอสมควร▼

ที่จริงมีของอีกมากมายที่น่ารัก และน่าสอยกลับบ้าน หากใครซื้อพวกสมุดจด โปสการ์ด มาเขียนและปั้มตัวปั้มแบบสมัยก่อนที่นี่ได้เลย

▼อดใจไม่ไหวเลยชอปมา ๓ อย่างนี้ อิอิ ︶ε╰✿▼

ขอลากันไปด้วยภาพสนามหญ้าด้านหน้ามิวเซียมสยามแล้วกัน เรามาที่นี่ครั้งล่าสุดคือเมื่อประมาณ ๗-๘ ปีที่แล้ว ครั้งนี้ก็ได้มาเที่ยวที่นี่อีกครั้ง ไม่ผิดหวังเลยจริง ๆ เพราะที่มิวเซียมสยามแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ด้วยตนเองที่สนุกเหมือนเดิม

หากใครอยากเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นในกรุงเทพก็กดเข้าไปดูที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย

“เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” พาย้อนวัยรำลึก นึกถึงบ้านพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์สุขสะสม เที่ยวคนเดียวก็สนุกได้!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *