Kummerspeck เมื่อเศร้าเราจึงกินเยอะ!

Kummerspeck [/’kʊmɐˌʃpɛk/] ในภาษาเยอรมันคำ ๆ นี้มาจากคำสองคำรวมกัน r. Kummer (ความโศกเศร้า) และ r. Speck (เบค่อน หรือ มันหมู) แต่เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันกลับมีความหมายว่า การกินตามอารมณ์หลังจากที่พบเจอกับเหตุการณ์ที่เศร้าหรือสร้างความเจ็บปวด ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารเพื่อตอบสนองต่อความเศร้าและความกังวลของตัวเอง

หลายครั้งในชีวิตเราต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความเสียใจ และความสิ้นหวัง บางครั้งเราทำงานหนักเพื่อเอาชนะมัน และในบางครั้งเราก็สั่งอาหารที่มีไขมันสูง อย่างดับเบิ้ลชีสเบอร์เกอร์พร้อมเบคอน มันฝรั่งทอด และมิลค์เชคเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองออกจากปัญหา

ทำไมมนุษย์ถึงกินตามอารมณ์เมื่อรู้สึกแย่

บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the Nutrition Society ปี 2019 อธิบายการกินตามอารมณ์ว่าเป็น “การกินมากจนเกินไปเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์เชิงลบ” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งนี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการรับประทานอาหารมากเกินขนาด  

ดร.เอมิเลีย ทอมป์สัน (Emilia Thompson) นักโภชนาการที่เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมผู้ที่มีประวัติการกินที่ผิดปกติทั้งทางอารมณ์และด้านอื่น ๆ เธอกล่าวว่าการกินตามอารมณ์เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เรื่องที่ต้องกลัว

นอกจากนี้การกินเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ค่อนข้างแตกต่างจากการกินเพื่อความหิวทางกายภาพ การกินตามอารมณ์มักเกี่ยวข้องกับความอยากอาหารบางชนิด อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หรืออาจรู้สึกไม่อยากในอาหารบางชนิด ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางครั้งความอยากอาหารก็เป็นการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นทางอารมณ์ ส่วนความหิวทางร่างกายมักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาหารทำให้เรารู้สึกอิ่มหรืออาจรู้สึกท้องร้องเมื่อพลังงานในร่างกายลดลง

นอกจากนี้บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Minerva Endocrinology ยังกล่าวถึงความเครียดและอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลต่อฮอร์โมนสำคัญในร่างกายอย่าง คอร์ติซอลและอินซูลิน โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลกระทบต่อความหิวและความต้องการเอ็นโดฟินจากอาหาร ดร.ทอมป์สัน กล่าวว่า เมื่อเกิดความเครียดระยะสั้น เรายังสามารถยับยั้งความอยากอาหารได้ แต่ระดับคอร์ติซอลที่สูงอย่างเรื้อรังอาจส่งผลให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น

การกินช่วยให้คลายทุกข์ได้จริงหรือไม่

ดร. เกร็ก พอตเตอร์ (Greg Potter) หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของ Resilient Nutrition กล่าวว่า เรายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนการกินตามอารมณ์ บางคนอาจมีความไวต่อพันธุกรรมมากกว่าคนอื่น ๆ การกินตามอารมณ์อาจเกิดจากการทำงานได้ไม่ดีของ ‘การสกัดกั้น’  ซึ่งเป็นความสามารถในการอธิบายความรู้สึกทางร่างกายได้อย่างถูกต้อง ดูเหมือนว่ามีคนที่สับสนระหว่างความหิวกับความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เขายังกล่าวต่ออีกว่า เราสามารถเปลี่ยนการตอบสนองต่อความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ในตอนแรกเราอาจตอบสนองต่อความเครียดจนไม่มีความรู้สึกอยากทานอาหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราเริ่มตอบสนองต่อความเครียดน้อยลง และทานอาหารเมื่อเกิดความเครียดแทน

รีแอนน่อน แลมเบิร์ต (Rhiannon Lambert) นักโภชนาการของแบรนด์ Remedy Kombucha ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายของเราเมื่อเรารับประทานอาหารบางชนิด อย่างอาหารที่มีน้ำตาลหรือมีไขมันสูงที่สามารถกระตุ้นโดปามีน (ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี) และเซโรโทนิน (ฮอร์โมนแห่งความสุข) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นสมองทำให้เรารู้สึกดี สิ่งนี้อาจสร้างความสับสนกับการเสพติดอาหารได้ แต่บ่อยครั้งที่เราไม่ได้เสพติดอาหาร มันเป็นเหมือนรางวัลที่ซับซ้อนและวิถีทางจิตวิทยาที่เราสร้างขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นแสดงให้เห็นว่านิสัยการกินตามอารมณ์เป็นเรื่องทางชีวภาพมากกว่าภายนอก

ไม่ว่าสุขหรือเศร้าก็ยิ่งกินเยอะ

แม้ว่าบางคนจะรู้สึกเบื่ออาหารในขณะที่เศร้า แต่บางคนก็รู้สึกดีที่เวลาเศร้าแล้วได้กิน ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเหตุใดการกินตามอารมณ์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ดี’ เสมอไป ที่จริงแล้ว บางครั้งอาจเป็นทางเลือกที่ผู้คนมักนึกถึง

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะพบว่าตัวเองกินมากขึ้นเมื่ออารมณ์เสีย สำหรับบางคนก็อาจไม่รู้สึกอยากอาหารเมื่อรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือเศร้า แต่จะเป็นการกินของอร่อยเมื่อรู้สึกมีความสุข ผู้คนมีการตอบสนองต่อความเครียดที่แตกต่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเมื่อรู้สึกถึงอารมณ์ทั้งหมดนี้ที่มากเกินไป

อาหารคือความสะดวกสบาย อาหารที่มีไขมันได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลอย่างมากต่อสมอง การศึกษาในปี 2011 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Investigation เปิดเผยว่าการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสามารถช่วยต่อสู้กับอารมณ์ด้านลบได้ ผลการวิจัยพบว่าฮอร์โมนบางชนิดที่ถูกสร้างจากกระเพาะอาหารจะสื่อสารกับสมอง ซึ่งส่งผลต่อสภาวะจิตใจของมนุษย์

ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การควบคุมอาหารแบบเข้มงวดไม่ได้ผลมาจากความจริงที่ว่าอาหารไม่ได้ช่วยสร้างพลังงานให้กับเราเท่านั้น แต่อาหารยังเป็นศูนย์กลางในการเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพบปะเพื่อนฝูงเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน การพบปะครอบครัวเพื่อรับประทานอาหารค่ำวันเกิด หรือการได้รับขนมเป็นของขวัญในงานเฉลิมฉลอง

การคุมอาหารช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้หรือไม่

การรับประทานอาหารในฐานะที่อาหารเป็นการกระตุ้นอารมณ์เป็นเรื่องปกติ และเนื่องจากเราถูกเลี้ยงดูมาท่ามกลางวัฒนธรรมการคุมอาหาร การทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเล่นโยคะ การทำสมาธิ บันทึกประจำวัน เดินเล่นทุกวัน หรืออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีส่วนช่วยในการยับยั้งความรู้สึกอยากรับประทานอาหารเมื่อเครียดหรือวิตกกังวลได้ ลองหายใจเข้าออกลึก ๆ เมื่อรู้สึกอยากอาหาร แล้วลองถามตัวเองว่า อยากรับประทานสิ่งนั้นจริง ๆ หรือไม่ การรับประทานอาหารตามสัญชาตญาณแบบนั้นอาจเป็นเรื่องยาก หากยึดติดอยู่กับการคุมอาหาร เพราะการคุมอาหารกลับทำให้คุณไปโฟกัสอยู่กับการนับแคลอรีหรืออาจรู้สึกว่าต้องทำให้ผู้คนพอใจในการมีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ การทำเช่นนี้อาจทำให้คุณรู้สึกหมดไฟและยิ่งโหยเมื่อต้องควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก

ดร.เอมิเลีย ทอมป์สัน (Emilia Thompson) กล่าวว่า “เค้กชิ้นหนึ่งอาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อคุณรู้สึกอารมณ์เสีย แต่ถ้าคุณจัดประเภทว่าเค้กเป็น ‘อาหารที่ไม่ดี’ การรับประทานเค้กก้อนนั้นก็อาจนำไปสู่ความรู้สึกผิด การกินตามอารมณ์ก็จะไม่ช่วยบำรุงร่างกายของคุณอีกต่อไปและจะทำให้คุณรู้สึกแย่กว่าเดิม”

การกินตามอารมณ์ไม่ใช่การกินแบบ ‘ไร้สติ’ เสมอไป

การกินของอร่อยโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งสำคัญจริง ๆ คือให้กินอย่างมีสติและตระหนักรู้ถึงวิธีการรับประทานอาหารของตัวเอง ต้องสังเกตว่าการกินตามอารมณ์ไม่ได้แย่และเป็นกลไกในการรับมือที่ถูกต้อง เพียงแค่อย่าให้สิ่งนี้มันเป็นกลไกในการรับมือกับความเครียดของเราแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

เคล็ดลับในการจัดการกับการกินตามอารมณ์

ตามที่ดร.ทอมป์สันคอยเตือนเราอยู่เสมอว่า การรับประทานอาหารตามอารมณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป แต่ถ้าคุณต้องการเพลิดเพลินกับอาหารและรู้สึกว่าความเครียดหรือความวิตกกังวลกำลังหยุดยั้งสิ่งนั้น มีบางสิ่งที่คุณสามารถทำได้

เลือกอาหารที่ซัพพอร์ตอารมณ์ของคุณ

แลมเบิร์ตแนะนำให้เลือกอาหารที่มีสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ในตัว อย่างการทานดาร์กช็อกโกแลตและผลเบอร์รีสด ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระและไฟเบอร์เพิ่มเติมที่สามารถช่วยซัพพอร์ตอารมณ์ของคุณได้

ไม่เป็นอะไรเลยกับการรับประทานอาหารตามอารมณ์

แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าคุณกินเยอะเกินความจำเป็น ดร.ทอมป์สันแนะนำให้เพิ่มขนาดชิ้นส่วนและปริมาณพลังงานที่คุณบริโภคในทุกมื้อ นอกจากนี้ให้กินสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ และกินเมื่อคุณรู้สึกหิว อนุญาตให้ตัวเองกินเค้กอย่างไร้สติได้บ้าง เพราะเรากำลังพูดถึงการกินตามสัญชาตญาณ

การรับประทานอาหารเพื่อสนองความอยากอาหารเป็นประจำจะช่วยจัดการกับความหิวได้ ในขณะเดียวกันก็ให้เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายมากขึ้น และฝึกการมองว่าอาหารทุกชนิดมีคุณค่าทางศีลธรรมเหมือนกัน อาหารทุกชนิด ไม่มีเมนูไหนที่ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี เป็นวิธีง่าย ๆ ในการเริ่มจัดการกับการกินตามอารมณ์ที่ทำได้เป็นประจำ 

จดบันทึก

ดร.ทอมป์สันแนะนำให้เขียนความคิดและความรู้สึกของคุณเป็นเวลา 5 นาทีในแต่ละวัน แม้ว่าคุณจะคิดว่าคุณไม่มีอะไรจะเขียนก็ตาม เพื่อประมวลผลของอารมณ์เหล่านั้นออกไปจากอาหาร การเขียนบันทึกช่วยให้เราปรับเปลี่ยนการตระหนักรู้ในตนเองได้ เพราะเราจะได้ไตร่ตรองถึงช่วงเวลาที่คุณเผลอกินตามอารมณ์ว่าเกิดขึ้นจากอะไร และหาทางรับมือเมื่อเกิดความรู้สึกอยากกินตามอารมณ์ในครั้งต่อไป

นอกจากนี้การจดบันทึกยังช่วยให้เราสามารถเจาะลึกถึงพฤติกรรม นิสัย ความคิด ความรู้สึก และค่านิยมในแต่ละวันของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ และยังเป็นวิธีที่ดีในการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจในตนเองและปรับวิธีที่เราพูดกับตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เราเกิดความอยากอาหารตามอารมณ์น้อยลง และเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย

Links to related Sites: 
- Kummerspeck,’ or grief bacon, is the German word for what happens when you eat when you’re sad, mic
- How to recognise emotional eating, and how it affects your nutritional (and mental) health, stylist
- Kummerspeck, thatsnotcanon

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *