2 วัน 1 คืน สุดเขตแดนตะวันตก สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ อ.สังขละบุรี

“มะเงยระอาว”  (แปลว่า สวัสดีในภาษามอญ) ที่วันนี้เราทักทายเป็นภาษามอญเพราะเราจะพาทุกคนไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมของชาวไทย มอญ และกะเหรี่ยง ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมืองชายแดนที่อยู่สุดแคว้นตะวันตกของประเทศไทย หากพร้อมแล้วก็มาชมความงามของวัฒนธรรมมอญไปพร้อม ๆ กันเลย..

การเดินทางในครั้งนี้จากกรุงเทพไปยังสุดชายแดนประเทศไทยฝั่งตะวันตกใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงกว่า ๆ ออกจากบ้านแต่เช้ามืดกว่าจะถึงสังขละบุรีก็ประมาณเที่ยง ๆ เราจองที่พักไว้ที่ P. Guest House and Country Resort (ไม่ได้มีสปอนเซอร์ใด ๆ ทั้งสิ้นจ่ายเองพักเอง 555) ที่พักที่เราพักอยู่ซอยเดียวกับวัดศรีสุวรรณ ห้องพักดีมาก บริการดี มีบริการเรียกเรือให้ด้วย หรือหากไม่อยากเดินไปสะพานเองตอนเช้าทางที่พักก็มีเรือมารับพาไปใส่บาตรฝั่งมอญได้ แต่หากต้องการเดินไปสะพานมอญเองก็อาจจะไกลสักนิด โดยจะเดินไปถึงสะพานแดงก่อน เดินถ่ายรูปเล่นเลาะไปเรื่อย ๆ ก็จะไปถึงยังสะพานมอญ (แต่เล่นเอาเมื่อยขาได้เหมือนกัน เป็นเพราะทางเดินขึ้นเขาด้วยแหละ) เมื่อเดินเล่นที่สะพานจนพอใจแล้วก็สามารถโบกรถรับจ้างไปตลาดต่อ หรือเรียกรถกลับที่พักเลยก็ได้

เมื่อเช็คอินที่พักแล้ว เราจึงไปด่านเจดีย์สามองค์ (ဂၠံင်ကျာ်ပိ) ที่อยู่ติดกับชายแดนพม่าก่อน ขับเลยไปจากที่พักประมาณ 25 กิโลเมตรก็ถึงที่หมาย 

▼ถึงแล้วด่านเจดีย์สามองค์ ╰(▔∀▔)╯

แต่เดิมด่านเจดีย์สามองค์เป็นแค่ก้อนหินวางซ้อนกันสามกองชาวไทยที่จะเดินทางออกจากเขตแดนไทยเข้าสู่เขตแดนพม่าก็จะมากราบไหว้กันตรงนี้ ก่อนที่จะมีการสร้างเจดีย์ขึ้นบนหินสามกอง โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวสามารถข้ามชายแดนไปยังฝั่งพม่าได้ ปล. แต่ช่วงนี้ด่านปิดยาวจากเหตุการณ์ภายในประเทศนั่นเอง

ถึงแม้ว่าจะเข้าไปชมตลาดพญาตองซูในเขตพม่าไม่ได้ แต่ในฝั่งไทยก็มีของขายอยู่เยอะเช่นกัน มีทั้งเครื่องประดับ อย่างเช่น แหวนและกำไลหยก ขนมพม่า เหล้าและบุหรี่ปลอดภาษีอากร

เมื่อกลับมายังที่พักจึงให้ทางที่พักเรียกเรือ เพื่อล่องเรือชมวัด 3 วัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ของที่นี่ โดยเป็นวัดที่จมน้ำ 2 แห่ง และไม่จมน้ำอีก 1 แห่ง หากมาในช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม – เมษายน) จะเป็นช่วงที่น้ำลด สามารถลงไปเดินชมวัดทั้ง 2 แห่งที่จมน้ำได้ ก็จะพบกับความงดงามของโบราณสถานที่แปลกตาไปอีกแบบ 

วัดแรกที่เราได้ไปชมคือวัดจมน้ำ (หรือวัดวังก์วิเวการามหลังเก่า) เป็นวัดของชาวมอญ

วัดจมน้ำ หรือ วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า

วัดที่สองที่เราได้ไปเยือนคือ วัดสมเด็จเก่า เป็นวัดของชาวไทย วัดนี้ไม่ได้จมน้ำเหมือนวัดแรก เพียงแต่เป็นวัดที่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งที่มีการสร้างเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนวชิราลงกรณ์ขึ้น วัดนี้เราสามารถเดินขึ้นไปกราบพระด้านบนได้ เดินขึ้นบันไดไปหลายขั้นเหมือนกัน ระยะทางขึ้นไปประมาณ 90 เมตร

วัดสมเด็จเก่า

จากนั้นเราก็ได้ไปยังวัดสุดท้ายคือ วัดศรีสุวรรณเก่า เป็นวัดของชาวกระเหรี่ยง โดยวัดนี้เป็นวัดที่จมอยู่ใต้น้ำมากที่สุด น้ำท่วมมิดจนมองไม่เห็น เมื่อมองไปใต้น้ำเห็นลาง ๆ เพียงแค่หลังคาโบสถ์เท่านั้น

ปัจจุบันทั้ง 3 วัดนี้ได้ถูกนำขึ้นมาสร้างไว้บนถนนในชุมชนแทนแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านเดินทางไปกราบไหว้สักการะได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

เมื่อล่องเรือชมวัดเสร็จแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นไฮไลท์ของชุมชนชาวมอญก็คือ สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ สะพานมอญ ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นสะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็ง ในประเทศพม่า โดยสะพานมอญนี้จะทอดยาวข้ามแม่น้ำซองกาเรีย สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นโดยความคิดริเริ่มของหลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ต้องการให้ชาวบ้านเดินทางข้ามฟากสะดวกโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ชาวบ้านที่ศรัทธาจึงมาร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสร้าง สะพานไม้แห่งนี้จึงมีความหมายต่อชาวบ้านที่นี่เป็นอย่างมาก

▼จากที่พักเราเดินไปยังสะพานไม้โดยเดินเข้าไปในถนนศรีสุวรรณคีรีซอย 1

▼ก็จะพบกับสะพานศรีสุวรรณคีรีหรือสะพานแดงก่อน ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างฝั่งไทยและหมู่บ้านกะเหรี่ยง

▼เดินไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอกับสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ หรือ สะพานมอญ

▼ตลาดฝั่งมอญมีของขายเยอะแยะเลย แต่ตอนเช้าจะคึกคักกว่านี้

เมื่อค่ำแล้วท้องก็เริ่มหิว และอีกหนึ่งสถานที่ที่ห้ามพลาดเมื่อไปเยือนต่างถิ่นคือการไปเดินตลาด หาของอร่อยกิน เดินไกลจนเมื่อยจนต้องโบกรถรับจ้างให้ไปส่งที่ตลาด+กลับที่พัก

▼ตลาดสังขละบุรี มีสินค้าท้องถิ่นมากมาย ของกินของทานเล่นอร่อยก็เยอะ อย่างร้านยาใจนี่ก็มีหมูจุ่มไม้ละบาทขาย

▼ขนมทองโย๊ะ เป็นแป้ง+งาดำ เวลาทานต้องจิ้มกับนมข้น ไม่แข็งไม่เหนียว ฟันไม่ดีก็ทานได้จ้า

เมื่อทานอาหารอย่างอิ่มอร่อยก็นอนหลับ เตรียมตัวตื่นมาใส่บาตรแต่เช้าตรู่..

วันถัดไป คลิกด้านล่างเพื่อต่อที่หน้าสองได้เลยจ้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *