รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 1 “สโนว์ไวท์”

หากคุณเป็นแฟนตัวยงของการ์ตูนดิสนีย์ในวัยเด็ก ก็คงจดจำเรื่องราวของวรรณกรรมดัดแปลงที่สวยงามได้ ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมดั้งเดิมที่มีการเล่าปากต่อปาก โดยมีการรวบรวม เขียนแต่งเติมขึ้นมาใหม่ในหลายรูปแบบ เช่น การรวมนิทานพื้นบ้านของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ชาวเยอรมัน และ นิทานห้าวันของจัมบัตติสตา บาซีเล กวีชาวอิตาลี ซึ่งหลาย ๆ เรื่องมีเนื้อหาที่โหดร้ายและไม่ใช่วรรณกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กเท่าไหร่นัก 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 1800 เจค็อบ และ วิลเฮล์ม กริมม์ (Jacob & Wilhelm Grimm) ทำงานเป็นบรรณารักษ์ ทั้งสองเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ชีวิตของพวกเขากลับพลิกผัน เมื่อพ่อของพวกเขาเสียชีวิต สองพี่น้องจึงต้องดิ้นรนด้วยตัวเองในช่วงวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน แต่การเป็นบรรณารักษ์ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ดี ในขณะเดียวกันทั้งคู่ต่างก็เป็นนักวิชาการที่กระตือรือร้น พวกเขามีโอกาสในการค้นคว้านิทานต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทั้งสองได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านที่มีการเล่าเรื่องราวปากต่อปาก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีเล่าขานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นโดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านกาลเวลารวมไว้ด้วยกัน

Jacob & Wilhelm Grimm portrayed by Elisabeth Jerichau-Baumann (1855)

ผลงานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเยอรมนี ณ ช่วงเวลานั้น ผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งฟรีดริช คาร์ล (Friedrich Carl von Savigny) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของกริมม์ ต่างต้องการเห็นเยอรมนีรวมกันเป็นประเทศเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีนักคิดและนักเขียนหลายคนหันไปหานิทานพื้นบ้านดั้งเดิมให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติเยอรมนีรูปแบบหนึ่ง โดยผลงานของพี่น้องตระกูลกริมม์กลายเป็นที่รู้จักมากที่สุด ซึ่งเล่าถึงตำนานพื้นบ้านที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยในตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ได้มีการรวมความหวัง ความกลัว และศีลธรรมของชาวเยอรมัน และแต่เดิมหนังสือไม่ได้มีไว้สำหรับเด็ก เนื่องจากมีข้อความที่รุนแรง มีการร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง มีเรื่องทางเพศ และบางทีอาจเป็นเรื่องราวที่น่าสยดสยองและมีความน่ากลัวอย่างหาที่เปรียบมิได้

ซึ่งนิทานพื้นบ้านของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นในปี1812 โดยนิทานเล่มแรกของพวกเขามีชื่อว่า Kinder- und Hausmärchen มีทั้งหมด 86 เรื่อง มีการรวบรวมจากการวิจัยของ พี่น้องตระกูลกริมม์ และจากเพื่อน รวมถึงคนรู้จักของพวกเขา รวมเรื่องราว ตำนานต่าง ๆ ที่เล่ากันโดยทั่วไปในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกหากตำนานเหล่านั้นมีรากฐานมาจากภาษาเยอรมันด้วย เรื่องราวทั้งหมดจะถูกนำมาปรับปรุงให้มีการใช้คำและวลีดั้งเดิมเพื่อให้ฟังดูเรียบง่าย ซึ่งคุณอาจเคยได้ยินว่าเทพนิยายรูปแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าน่าสยดสยองกว่าเวอร์ชันของดิสนีย์ที่ถูกนำมาร้อยเรียงเรื่องราวใหม่ให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งในภายหลัง

สโนว์ไวท์

(Snow White)

ต้นกำเนิดของสโนว์ไวท์

เป็นเทพนิยายที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกตะวันตก เรื่องราวดั้งเดิมของ Snow White นำมาจากเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านของเยอรมันในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเขียนโดยสองพี่น้องตระกูลกริมม์ เทพนิยายของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเทพนิยายเวอร์ชันดัดแปลงในหนังสือและภาพยนตร์ในปัจจุบัน โดยในเวอร์ชั่นสมัยใหม่แตกต่างจากนิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมม์เล็กน้อย

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้ตีพิมพ์หนังสือของพวกเขาในปี 1812 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องราวของ Sneewittchen (หรือในชื่อที่คุ้นหูว่า Snow White) ในฉบับดั้งเดิม เด็กอายุเพียง 7 ขวบ ซึ่งตรงข้ามกับดิสนีย์ที่อายุ 14 ปี แต่กระนั้นอายุของทั้งสองเวอร์ชันก็ดูโตไม่พอที่จะพิจารณาเรื่องการแต่งงาน ในนิทานประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่างที่เรารู้จัก เช่น กระจกวิเศษ แอปเปิลอาบยาพิษ โลงศพแก้ว ตัวละครราชินีผู้ชั่วร้าย และคนแคระทั้งเจ็ด แต่ถึงอย่างไรในเวอร์ชันดั้งเดิมคนแคระยังไม่มีชื่อจนกระทั่งเรื่องราวถูกนำไปแสดงที่บรอดเวย์ในปี 1912 โดยคนแคระแต่คนมีชื่อเรียกว่า Blick, Flick, Glick, Snick, Plick, Whick และ Quee การแสดงประสบความสำเร็จและถูกนำไปทำเป็นละครใบ้เรื่อง Snow White ในปี 1916 โดย ณ ขณะนั้นวอลเตอร์ เอเลียส ดีสนีย์ (Walter Elias Disney) ในวัย 15 ปี  ได้รับชมและดูเหมือนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับวอลท์ ดิสนีย์ นำมาสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs ในปี 1937 และตั้งชื่อให้กับคนแคระทั้งเจ็ดใหม่โดยมีการปรับเปลี่ยนให้คนแคระมีชื่อตามสภาพอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์ ได้แก่ชื่อ Doc, Grumpy, Happy, Sleepy, Bashful, Sneezy และ Dopey 

Franz Jüttner (1865–1925): Illustration from Sneewittchen

สโนว์ไวท์ฉบับสองพี่น้องตระกูลกริมม์

ในฉบับของเทพนิยายกริมม์ ราชินีสั่งให้นายพรานนำอวัยวะภายในของสโนว์ไวท์กลับมา โดยบอกว่า “ฆ่าเธอเสีย และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเธอตายแล้ว จงนำปอดและตับของเธอกลับมาให้ฉันด้วย”  แต่นายพรานกลับฆ่าหมูป่าแทน และนำปอดและตับของหมูป่ากลับไปให้ราชินี ซึ่งราชินีคิดว่าเป็นของสโนว์ไวท์จึงกินปอดและตับของสโนว์ไวท์ในทันที (ราชินีกินคน?) พี่น้องตระกูลกริมม์เขียนเล่าว่า “คนทำอาหารต้องต้มปอดและตับด้วยเกลือ เพื่อให้หญิงชั่วร้ายกินมัน ทำให้เธอคิดว่าเธอกินปอดและตับของสโนว์ไวท์” 

และเมื่อพบว่านายพรานไม่ได้ฆ่าสโนว์ไวท์ เธอจึงพยายามฆ่าสโนว์ไวท์ด้วยการหลอกสโนว์ไวท์ถึงสามครั้งในเวอร์ชันกริมม์ ครั้งแรกที่เธอให้สโนว์ไวท์ลองสวมเครื่องรัดตัว ซึ่งรัดแน่นมาก ทำให้สโนว์ไวท์สลบไป (คนแคระช่วยเธอด้วยการตัดเชือกออก) ครั้งที่สองเธอขายหวีอาบยาพิษให้สโนว์ไวท์ ซึ่งเด็กสาวนำมาใช้เสียบผมของเธอทำให้เธอสลบไป (คนแคระช่วยเอาหวีออกไป) ครั้งที่สามราชินีหลอกเธอด้วยแอปเปิลพิษแบบเดียวกับที่เราเห็นในภาพยนตร์ดิสนีย์

Alexander Zick (1886): Illustration from Sneewittchen

สโนไวท์เป็นลมหมดสติและสันนิษฐานว่าเธอเสียชีวิตแล้ว จึงถูกบรรจุไว้ในโลงแก้ว (สิ่งนี้เหมือนกันทั้งในหนังสือและภาพยนตร์) ในเวอร์ชั่นกริมม์ เมื่อเจ้าชายปรากฏตัวเขายืนกรานที่จะพรากความงามที่ล่วงลับไปแล้ว (ตั้งใจจะข่มขืนศพ?) แม้ว่าเขาจะไม่เคยพบเธอเลยก็ตาม คนแคระเห็นด้วยแม้จะลังเล ในขณะที่พวกเขากำลังหามโลงศพของเธอออกจากบ้าน หนึ่งในนั้นเกิดสะดุด สโนไวท์กระเด็นออกจากที่พำนักในโลงศพ พ่นแอปเปิลที่ติดคอออกมาและฟื้นขึ้นมาทันที โดยปราศจากการจุมพิตของเจ้าชาย

สโนว์ไวท์ตามตำนานพื้นบ้านทั่วไป

ในภาพยนตร์และนิทานพื้นบ้าน สโนว์ไวท์และเจ้าชายตกหลุมรักกันและแต่งงานกัน (อย่าลืมว่าสโนว์ไลท์อายุเพียง 7 ขวบ) โดยในภาพยนตร์คนแคระทั้งเจ็ดไล่ตามราชินีผู้ชั่วร้ายเข้าไปในป่าทำให้เธอตกลงมาจากหน้าผาจนตาย แต่ในเวอร์ชั่นกริมม์ ราชินีเข้าร่วมงานแต่งงานของสโนว์ไวท์กับเจ้าชาย โดยเจ้าชายลงโทษเธอด้วยการสั่งให้ราชินีใจร้ายสวมรองเท้าเหล็ก ที่ถูกนำไปไว้ในถ่านที่ลุกเป็นไฟ มันถูกนำออกมาร้อน ๆ ด้วยคีมคีบและวางไว้ต่อหน้าเธอ เธอถูกบังคับให้สวมรองเท้าสีแดงและเต้นรำจนกว่าเธอจะล้มลงตาย”

สโนว์ไวท์ที่ (อาจ) มีอยู่จริง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่าเรื่องราวของสโนว์ไวท์อาจมีต้นกำเนิดมาจากเรื่องราวในชีวิตจริงของเคาน์เตส (Countess) หรือ ขุนนางสตรีชื่อ Margarete von Waldeck (1553 – 1554) และ ฟิลิปที่ 2 (Philip II) แห่งสเปนซึ่งก็คือคนรักของเธอ

Margarete von Waldeck (1553 – 1554)

เคาน์เตส Margarete von Waldeck มีชื่อเสียงเรื่องความงดงาม แต่อนิจจาเธอได้ถูกวางยาพิษตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากในเวลานั้นการเมืองมีความสำคัญมากกว่าความรักที่แท้จริง และเรื่องบังเอิญอีกอย่างคือ Margarete มีความสัมพันธ์ที่แย่กับแม่เลี้ยงของเธอ ในขณะเดียวกัน เมืองที่เคาน์เตสเติบโตขึ้นมาอย่าง Wildungen ก็เป็นที่ตั้งของเหมืองทองแดงหลายแห่งเช่นกัน พ่อของ Margaretha เป็นเจ้าของเหมืองทองแดงหลายแห่ง และคนงานส่วนใหญ่เป็นเด็กที่แคระแกรนเนื่องจากภาวะทุพโภชนาการและเกิดขึ้นจากสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ พวกเขาถูกเรียกว่าพวกเขาถูกเรียกว่า ‘คนแคระที่น่าสงสาร’ เช่นเดียวกับคนแคระ เด็ก ๆ ทั้งหมดอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในบ้านห้องเดียว ในปัจจุบันหมู่บ้าน Bergfreiheit ก็ถูกเรียกว่าหมู่บ้านชเนวิชเชนดอร์ฟ (Schneewittchendorf) หรือที่เรียกว่าหมู่บ้านสโนว์ไวท์นั่นเอง โดยการค้นพบนี้ตีพิมพ์ในปี 1994 โดย Eckhard Sander นักวิชาการชาวเยอรมัน ในหนังสือ Schneewittchen: Märchen oder Wahrheit? โดยมีการสังเกตการเปรียบเทียบเหล่านี้ขึ้น

เรื่องเล่าสโนว์ไวท์จากประเทศอื่น ๆ 

นอกจากนี้ในเวอร์ชันอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องเล่าของประเทศอื่น ก็มีเรื่องราวที่เล่าถึงสโนว์ไวท์ว่าเธอลี้ภัยอยู่กับโจรแทนที่จะเป็นคนแคระ หรืออยู่ในปราสาทผีสิงหรือบ้านบนชายทะเลมากกว่าอยู่ในป่า ตัวแปรอื่น ๆ ได้แก่ ชุดต้องมนตร์ ถุงน่องอาบยาพิษ หรือดอกไม้พิษ แทนที่จะเป็นแอปเปิลอาบยาพิษ

อย่างอีกเรื่องเล่าหนึ่งก็เล่าว่า สโนว์ไวท์ที่ถูกเรียกว่าเออร์เมลลินา (Ermellina) และหนีออกจากบ้านโดยขี่นกอินทรีที่พาเธอไปยังวังที่มีนางฟ้าอาศัยอยู่ หรืออย่างในเวอร์ชันภาษาอิตาเลียน สโนว์ไวท์มีพี่สาวที่ชั่วร้ายมากกว่าแม่เลี้ยง โดยซิริโคเชล (Ziricochel) ตัวละครหลักของเรื่องมีความคล้ายกับสโนว์ไวท์ตรงที่ ดวงจันทร์ซึ่งรับบทบาทเดียวกับกระจกวิเศษบอกกับพี่สาวของซิริโคเชลว่าน้องคนสุดท้องนามว่า ซิริโคเชล น่ารักที่สุด บรรดาพี่ ๆ ของเธอก็ส่งนักโหราศาสตร์ไปฆ่าซิริโคเชล แต่หลังจากความพยายามฆ่าเธอหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พี่ของเธอจึงเปลี่ยนเธอให้กลายเป็นรูปปั้นโดยใช้เสื้อต้องมนตร์ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจบลงด้วยดีเมื่อพี่สาวของเจ้าชายถอดเสื้อออกและชุบชีวิตให้ซิริโคเชล

ส่วนในเวอร์ชันสก็อตแลนด์มีชื่อเรียกว่า Gold-Tree and Silver-Tree เรื่องราวของพระราชินีซิลเวอร์ทรี (Silver-Tree) มักจะปรึกษาปลาเทราท์ในบ่อน้ำแทนที่จะเป็นกระจกวิเศษเพื่อค้นหาว่าใครสวยที่สุด เจ้าหญิงโกล์ดทรี (Gold-Tree) จบลงด้วยการถูกหลอกโดยการใช้หนามพิษฆ่า อีกเวอร์ชันหนึ่งของสก็อตแลนด์ตั้งชื่อเจ้าหญิงว่า Lasair Gheug โดยเธอหนีจากแม่เลี้ยงของเธอไปหลบภัยพร้อมกับแมว 13 ตัว ซึ่งต่อมาแมวได้กลายเป็นเจ้าชายรูปงามพร้อมกับเหล่าองค์รักษ์ เรื่องราวเกือบจะจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งเมื่อเธอได้แต่งงานกับเจ้าชาย แต่ถึงกระนั้นราชินีผู้ชั่วร้ายส่งยักษ์น้ำแข็งสามตัวมาดักจับเธอทำให้เธอตกอยู่ในภวังค์คล้ายคนตาย ซึ่งในทั้งสองเรื่องนี้เจ้าชายแต่งงานใหม่และภรรยาคนที่สองของเขาก็เป็นผู้ช่วยชีวิตเจ้าชายและนางเอกจากหนามอาบยาพิษหรือชุบชีวิตเธอจากภวังค์

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 2 “ซินเดอเรลล่า”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 3 “เจ้าหญิงนิทรา”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 4 “ราพันเซล”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 5 “หนูน้อยหมวกแดง”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 6 “ฮันเซลกับเกรเทล”

Links to related Sites: 
 
- Schneewittchen, grimmstories.com
- History of Cinderella, abilenetx.gov
- The Dark Origins of the Grimms’ Fairy Tales, denofgeek.com
- US IB English-Grimms Tales for Young and Old: The Complete Stories: Snow White, asmadrid.libguides.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *