เทพนิยายเรื่องต่อไปที่เราจะยกมาเล่าเป็นเทพนิยายคลาสสิกที่คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกันดีอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทล ฉบับที่รวบรวมโดยสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1812

ฮันเซลกับเกรเทล

(Hansel and Gretel)

Illustration by Arthur Rackham (1909)

เป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทลเป็นเรื่องราวของเด็กสองคนที่ถูกพ่อแม่นำไปทิ้งไว้ในป่า ระหว่างทางสองพี่น้องได้โยนก้อนหินไว้ตามทาง ทำให้เด็กทั้งสองสามารถกลับถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย ต่อมาแม่เลี้ยงก็ได้โน้มน้าวใจพ่อของฮันเซลกับเกรเทลให้ทิ้งเด็ก ๆ ไว้กลางป่าเป็นครั้งที่สอง ในครั้งนี้เด็กทั้งสองทิ้งเกล็ดขนมปังไว้ตามทางกลับบ้าน แต่นกกินเกล็ดขนมปังจนหมด ทำให้เด็ก ๆ หลงทางในป่า เด็กทั้งสองเดินทางมาเรื่อย ๆ จนเจอกับบ้านขนมปัง ด้วยความหิวทั้งสองจึงกินขนมหวานโดยที่หารู้ไม่ว่านี่คือกับดักของแม่มด สองพี่น้องจึงถูกแม่มดจับตัวไว้ โดยเกรเทลถูกบังคับให้เป็นคนให้อาหารฮันเซลเพื่อที่แม่มดจะกินเขาต่อ ทั้งคู่พยายามหลบหนีโดยผลักแม่มดให้หล่นลงไปในเตาอบที่ติดไฟอยู่ สองพี่น้องหอบสมบัติมีค่าของแม่มดและเดินทางกลับบ้าน พ่อกับแม่เลี้ยงของฮันเซลกับเกรเทลเปิดประตูต้อนรับและขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น ครอบครัวก็อยู่กันพร้อมหน้าอย่างมีความสุข

เรื่องราวที่แท้จริงของฮันเซลกับเกรเทลในศตวรรษที่ 14

นักวิชาการเชื่อว่าเรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทลเกิดขึ้นจากความอดอยากครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี 1314 ทำให้เศษฐกิจในยุโรปหยุดชะงัก เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร นักวิชาการคนหนึ่งประเมินว่าความอดอยากครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 400,000 ตารางไมล์ของคนยุโรปราว 30 ล้านคน และอาจคร่าชีวิตประชากรไปมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่ ผู้สูงอายุเลือกที่จะอดอาหารตายโดยหวังว่าการเสียสละของพวกเขาจะช่วยให้คนหนุ่มสาวมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ แม่ ๆ หลายคนทอดทิ้งลูก และในบางรายถึงกับกินลูกของตน มีหลักฐานของการกินเนื้อคนในหนังสือ The Third Horseman ของ William Rosen อ้างถึงพงศาวดารเอสโตเนียซึ่งระบุว่าในปี 1315 “มารดาต้องเลี้ยงดูลูกของตน” นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์ชาวไอริชยังเขียนด้วยว่าความอดอยากในครั้งนั้นเลวร้ายมาก จากเรื่องราวเหล่านี้จึงถือเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดเรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทลขึ้น ซึ่งเรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทลนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นของการทิ้งลูกและการเอาชีวิตรอด

ฮันเซลกับเกรเทลจากประเทศต่าง ๆ

มีตำนานจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันกับการเล่าเรื่องของยุโรป ยกตัวอย่างนิทานแอฟริกันที่แม้ว่าจะไม่มีตัวละคร ‘แม่มด’ แต่ก็มีการบอกเล่าเรื่องราวของเด็กสามคนที่ถูกพ่อของพวกเขาขับไล่หลังจากปล่อยให้นกที่ผลิตนมวิเศษของเขาหลุดออกไป เช่นเดียวกับเรื่องเล่าของชาวยุโรป ที่เด็ก ๆ ถูกกดขี่ก็เกิดจากการที่ครอบครัวไม่มีอาหารที่เพียงพอ และต่อมาพวกเขาก็หนีเข้าไปในป่า

เรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทลหลายรูปแบบ อย่างในนิทานห้าวันของจัมบัตติสตา บาซีเล ได้ใช้ตัวละครชื่อ Nennillo และ Nennella ถูกแม่เลี้ยงใจร้ายบังคับให้สามีทิ้งลูกทั้งสองไว้ในป่า พ่อพยายามทำลายแผนโดยทิ้งรอยข้าวโอ๊ตให้เด็ก ๆ เดินตาม แต่สุดท้ายลากลับกินข้าวโอ๊ตเหล่านี้จนหมดทำให้เด็ก ๆ หลงป่า

ตัวละครแม่มดในหลายเรื่องเล่ามักถูกพบในป่าลึก ในนิทานพื้นบ้านรัสเซียเรื่อง Vasilisa the Beautiful มีตัวละครแม่มดที่กินเนื้อคนเป็นอาหาร และในเรื่อง Blumenthal ที่แต่งในปี 1903 ก็มีตัวละครแม่มดที่กินเนื้อคนและอาศัยอยู่ในป่าลึกเช่นกัน

นอกจากนี้ในโรมาเนียเองก็มีนิทานเรื่อง The Little Boy and the Wicked Stepmother ซึ่งได้เล่าถึงเรื่องราวเกิดขึ้นในป่าเช่นกัน โดยเป็นเรื่องราวของเด็กสองคนถูกทอดทิ้งและหาทางกลับบ้านตามรอยของเถ้าถ่าน แต่เมื่อพวกเขากลับถึงบ้าน แม่เลี้ยงก็ฆ่าเด็กชายตัวเล็ก ๆ และบังคับให้น้องสาวเตรียมศพของเขาเพื่อเป็นอาหารสำหรับครอบครัวของตน

ส่วนเทพนิยายฝรั่งเศสเรื่อง Le Petit Poucet (1697) ก็มีความคล้ายคลึงกับฮันเซลกับเกรเทลตรงที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายตัดไม้ผู้ยากจนที่พาลูกไปทิ้งไว้ในป่า

นิทานเรื่องฮันเซลกับเกรเทลมีการแปลมากกว่า 160 ภาษา นับตั้งแต่สองพี่น้องตระกูลกริมม์ตีพิมพ์ตำนานพื้นบ้านเยอรมันในครั้งแรกปี 1812 โดยได้มีการนำเสนอเรื่องราวที่ผู้ปกครองทอดทิ้งเด็ก การพยายามกินเนื้อคน การตกเป็นทาส และการฆาตกรรม ซึ่งต้นกำเนิดของเรื่องราวนี้ก็น่ากลัวไม่แพ้กัน

Illustration by Otto Kubel (1868 – 1951)

อีกหนึ่งที่มาของฮันเซลกับเกรเทล 

สำหรับสองพี่น้องตระกูลกริมม์การรวบรวมนิทานพื้นบ้านเป็นการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเอาไว้ โดยมองว่านิทานพื้นบ้านเป็นตัวแทนรูปแบบของวรรณกรรมที่บริสุทธิ์และวัฒนธรรมประจำชาติที่มาจากคนธรรมดาสามัญ แม้ว่าสองพี่น้องตระกูลกริมม์จะได้รับชื่อเสียงหลังการการรวบรวมนิทานจากชาวชนบท แต่หลายเรื่องก็มีต้นกำเนิดมาจากชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง

นักวาดภาพล้อเลียนชาวเยอรมัน Hans Traxler ได้ตีพิมพ์หนังสือ Die Wahrheit über Hänsel und Gretel โดยหนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของ Hans และ Grete Metzler ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านในป่า Spessart ในช่วงศตวรรษที่ 17 ระหว่างสงคราม 30 ปี

พี่น้องคู่นี้ฆ่าผู้หญิงชื่อ Katharina Schraderin เพื่อขโมยสูตรขนมปังขิงของเธอ ตามนิทานเรื่องนี้ Schraderin เป็นที่รู้จักในฐานะแม่มดเพราะขนมปังขิงของเธอดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้เป็นการ์ตูนเสียดสีที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องจริงของฮันเซลกับเกรเทล

และยังมีอีกความเชื่อหนึ่งที่กล่าวว่าเรื่องจริงของฮันเซลกับเกรเทลมีขึ้นในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ่อแม่ส่งลูก ๆ เข้าไปในป่าเพื่อหลีกเลี่ยงพวกนาซี พวกเขาจึงสมควรที่จะมีเรื่องราวคล้ายคลึงกับตัวเอง

ถึงอย่างไรในปัจจุบันเรื่องราวของฮันเซลกับเกรเทลยังคงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมในระดับสากล มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เกือบทุกภาษา มีการดัดแปลงเนื้อเรื่องให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 1 “สโนว์ไวท์”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 2 “ซินเดอเรลล่า”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 3 “เจ้าหญิงนิทรา”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 4 “ราพันเซล”

รวมตำนานเทพนิยายคลาสสิก ตอนที่ 5 “หนูน้อยหมวกแดง”

Links to related Sites: 

- Hänsel und Gretel, childstories.org
- The True Story Of Hansel And Gretel Was A Grim Tragedy, thoughtnova.com
- The History and Origins of Hansel and Gretel, pookpress.co.uk
- Discover The Truly Grim History Behind The Fairy Tale Of Hansel And Gretel, allthatsinteresting.com
- The True Story Behind Gretel And Hansel And The Grimm Fairy Tales,signalhorizon.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *