คิดอย่างไรได้อย่างนั้น!! ผลการวิจัยพบว่า “ถ้าคิดว่าแก่ ก็จะแก่ไวกว่าเดิม”

มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนเราดูเด็กหรือแก่กว่าวัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต อาหารที่รับประทาน การดูแลสุขภาพของตัวเอง การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การหลีกเลี่ยงมลภาวะ ซึ่งแน่นอนว่าทัศนคติของคนเราก็สามารถส่งผลให้คุณดูแก่กว่าวัยได้เช่นกัน

ทัศนคติที่คุณมีต่อบางสิ่งอาจส่งผลลัพธ์ได้โดยตรง เรื่องนี้เป็นที่รู้กันดีในทางจิตวิทยาว่า สิ่งนี้คือ Self-Fulfilling Prophecy หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือผลลัพธ์นั้นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว จากการที่เราแค่คาดหวังหรือเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น อธิบายง่าย ๆ คือ “คิดอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น” ดังนั้นหากคิดว่าตัวเองแก่ คุณก็มีโอกาสที่จะแก่เร็วขึ้น

มีผลการศึกษาจำนวนมาก ได้อธิบายถึง Self-Fulfilling Prophecy ว่า ทัศนคติของคนเรามีผลต่อสุขภาพร่างกายและอารมณ์ของตนเอง นอกจากนี้ยังมีผลต่ออายุอีกด้วย

ผลการศึกษาที่ 1  

มีการศึกษาหนึ่งโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) ได้สอบถามผู้เข้าร่วม 29 คนที่มีอายุระหว่าง 66-98 ปี เกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาที่มีต่อความแก่ โดยผู้เข้าร่วมมีระดับของสุขภาพร่างกายที่แตกต่างกัน บางคนอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ในขณะที่บางคนก็อาศัยอยู่คนเดียว ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเขามีรูปร่างที่ดี แม้ว่าจะมีคนอื่น ๆ ที่ดูดีกว่าก็ตาม 

มีเพียง 2 คนที่บอกว่าตัวเองแก่และอ่อนแอ แม้ว่าพวกเขาจะมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ซึ่งการรับรู้เกี่ยวกับอายุของตัวเองในเชิงลบมีโอกาสนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่แย่ลง ดังที่เห็นได้จากการที่ผู้เข้าร่วมนำตัวเองออกมาจากสังคม ไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรม และไม่ออกกำลังกาย

ผลการศึกษาที่ 2

ในการศึกษาที่ 2 มีผู้เข้าร่วม 660 คน จากงานวิจัยในชุมชนที่รู้จักกันในนาม Ohio Longitudinal Study of Aging and Retirement ได้ศึกษาเรื่องการรับรู้ในเชิงบวกของอายุที่เพิ่มขึ้นในวัยกลางคน ส่งผลให้มีอายุยืนยาวขึ้น 7.5 ปี 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอื่นที่บอกถึงผลลัพธ์นี้ในทำนองเดียวกันว่า การรับรู้ถึงอายุตัวเองที่เพิ่มขึ้นในแง่บวก จะทำให้มีพัฒนาทางด้านร่างกายที่แข็งแรงได้ไวแม้ว่าจะออกกำลังกายมาแค่ 6 เดือน

ผลการศึกษาที่ 3

ผู้ที่มีการรับรู้ในเชิงบวกเกี่ยวกับอายุ 44% มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากความทุพพลภาพอย่างรุนแรงได้

สำหรับการศึกษานี้มีกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมจำนวน 598 คน ที่ได้รับคัดเลือกจากแผนสุขภาพในนิวเฮเวน และมีการสัมภาษณ์รายเดือนเป็นเวลา 129 เดือน โดยแต่ละบ้านจะถูกสัมภาษณ์เสร็จสิ้นทุก ๆ 18 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม 1999 ถึงเดือนธันวาคม 2008

สอดคล้องกับผลการวิจัยที่อธิบายว่า “มุมมองในเรื่องของอายุเชิงบวก อาจช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวจากอาการทุพพลภาพผ่านหลายวิธี ทั้งการตอบสนองของหัวใจและหลอดเลือดต่อความเครียด การปรับปรุงสมดุลทางกายภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพของตนเอง รวมถึงการมีส่วนร่วมในด้านพฤติกรรมสุขภาพที่เพิ่มขึ้น”  

ผลการศึกษาที่ 4

ในการศึกษาสุดท้าย มีผู้เข้าร่วมเกือบ 1,500 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ในช่วงแรกพบว่า ผู้ที่มีมุมมองชีวิตเชิงบวก ผ่อนคลายและร่าเริง มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ (เช่น อาการหัวใจวาย) ลดลงถึงหนึ่งในสามเลยทีเดียว

นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่มาจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ และ โรคเบาหวาน ก็มีความเสี่ยงลดลง 50% เช่นกัน 

เลือกที่จะมีความสุข มองโลกในแง่บวก และลองมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ

การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อมุมมองของอายุที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่แสดงถึง self-fulfilling prophecy อย่างชัดเจนว่าหากเชื่อว่าเราเป็นอย่างไร เราก็จะเป็นเช่นนั้น

ในขณะที่รูปแบบการดำเนินชีวิต อย่างการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ฯลฯ ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพ แต่ก็ควรเสริมในเรื่องทัศนคติและมุมมองของตนเองด้วย 

มีการเชื่อมโยงที่ชัดเจนแสดงให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับอายุมีผลต่อสุขภาพของแต่ละบุคคลทั้งในแง่บวกและลบ ซึ่งหากคุณไม่ปล่อยตัวไปตามวัยของตนเอง เลือกที่จะมีความสุข มองโลกในแง่บวก เลือกมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็จะทำให้คุณดูเด็กกว่าวัย แต่ถ้าเชื่อว่าตัวเองแก่ ปล่อยตัวเองเพราะคิดว่าแก่ ไม่มีทางที่จะดูดีขึ้นมาได้ มันก็จะเป็นอย่างที่ตนเองคิดไว้ ซึ่งก็จะส่งผลเสียกับร่างกายของตัวเอง

เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็ลองเปลี่ยนความคิดของตัวเองเสียใหม่ ใครว่าอายุมากขึ้นแล้วจะดูดีไม่ได้ เลือกที่จะมีความสุข มองโลกในแง่บวก แล้วก็หาประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับตัวเองกันดีกว่า เพราะอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข 🙂

ข้อมูล Dr.mercolatelegraphncbijamanetworkncbi

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *