นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ “วิงเวียนศีรษะ” หลังตื่นนอน!

บางครั้งการตื่นนอนแล้วเวียนศีรษะไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของอาการวิงเวียนศีรษะตอนเช้าเป็นประจำอาจรวมไปถึง ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อที่หู ความดันโลหิตต่ำ และผลข้างเคียงของยา

คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์วิงเวียนศีรษะเป็นครั้งคราว ตามที่ข้อมูลของ National Institute on Deafness and Other Communication Disorders กล่าวไว้ว่า ในปี 2008 ประมาณ 15% ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ มักมีปัญหาเรื่องการทรงตัวหรือเวียนศีรษะ

ซึ่งอาการวิงเวียนศีรษะจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่ต่างกัน แต่สามารถรวมไปถึงอาการต่างๆ ดังนี้ได้

  • รู้สึกจะเป็นลม หรือ หน้ามืดตาลาย
  • รู้สึกไม่สมดุล หรือ สับสนและไม่เข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นรอบตัวเอง
  • ความรู้สึกว่าตัวเองหมุนหรือสิ่งแวดล้อมหมุน

อาการวิงเวียนศีรษะมักจะเกิดชั่วคราวหรือช่วงสั้น ๆ และอาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามอาการเวียนศีรษะตอนตื่นนอนที่เกิดขึ้นเป็นประจำอาจเป็นอาการของสุขภาพที่เป็นอยู่เดิมก็ได้ ในบทความนี้จะเขียนถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ของการวิงเวียนศีรษะตอนตื่นนอน และเคล็ดลับการป้องกัน รวมไปถึงเมื่อไหร่ที่ควรจะต้องไปพบแพทย์

สาเหตุของการวิงเวียนศีรษะตอนตื่นนอนมีต่อไปนี้

ภาวะขาดน้ำ

คนที่มีภาวะขาดน้ำในตอนกลางคืนอาจทำให้บางครั้งตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกเวียนหัวได้ โดยสัญญาณอื่น ๆ ของภาวะการขาดน้ำอาจรวมไปถึง ความรู้สึกกระหายน้ำ ความเมื่อยล้า ปวดศีรษะ และปากหรือริมฝีปากแห้ง ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำอาจมาจาก

  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอในระหว่างวัน
  • นอนหลับในสภาพแวดล้อมที่ร้อน
  • การดื่มหรือรับแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • อาการป่วยที่ทำให้เกิดการอาเจียนและท้องเสีย
  • การทานยาที่ทำให้คนขับปัสสาวะมากขึ้น
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมากขึ้น

ความดันโลหิตต่ำ

ความดันโลหิตต่ำ (Low blood pressure หรือ Hypotension) อาจเป็นสาเหตุของอาการวิงเวียนศีรษะในบางคนได้ ความดันโลหิตยังสามารถลดลงได้อย่างกระทันหันเมื่อบุคคลนั้นเปลี่ยนท่าทางจากท่านอนหรือท่านั่งไปเป็นท่ายืน ตัวอย่างเช่น เมื่อพวกเขาลุกจากที่นอนในตอนเช้า ความดันโลหิตที่ต่ำลงกระทันหันนี้เรียกว่า ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน (Postural Hypotension หรือ Orthostatic Hypotension) นอกจากนี้อาการที่เกิดจากความดันโลหิตต่ำในการทรงตัวอาจรวมไปถึง อาการเวียนหัว รู้สึกมึน ตาพร่ามัว และเป็นลม

ในบางครั้งความดันโลหิตต่ำอาจเป็นอาการของความเจ็บป่วยอื่นๆ อาทิเช่น โรคพาร์กินสัน หรือโรคแอดดิสัน นอกจากนี้การนอนพักฟื้นเป็นเวลานานและยาบางชนิด อย่างเช่น beta-blockers (**เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะหรือโรคหลายชนิด เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติบางชนิด เป็นต้น) ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำได้

สำหรับคนที่เคยเป็นหรือเคยเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน การค่อย ๆ ยืนหรือลุกจากที่นอนช้า ๆ จะสามารถช่วยป้องกันอาการเวียนหัวหรือหน้ามืดได้ นอกจากนี้การสวมถุงน่องรัดกล้ามเนื้อระหว่างวันก็อาจช่วยบางคนเกี่ยวกับปัญหานี้ได้

หากยาที่ทานทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนปริมาณการทานหรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน การรักษาอาการป่วยที่มีอยู่เดิมก็สามารถช่วยป้องกันอาการความดันโลหิตต่ำได้

น้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการวิงเวียนศีรษะในตอนเช้าอาจเป็นอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia หรือ Low Blood Sugar) น้ำตาลในเลือดต่ำนั้นพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับอินซูลิน โดยในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานสาเหตุของน้ำตาลในเลือดต่ำอาจรวมไปถึงสาเหตุเหล่านี้

  • การใช้อินซูลินมากเกินไป หรือยารักษาโรคเบาหวานอื่น ๆ
  • ข้ามมื้ออาหาร หรือ การทานน้อยเกินไป
  • การออกกำลังกายที่ใช้กำลังกายอย่างหนัก หรือกิจกรรมที่ทำให้หัวใจเราเต้นแรง
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

นอกจากนั้นอาการของน้ำตาลในเลือดต่ำอาจรวมไปถึง อาการสั่นหรือตัวสั่น อาการปวดหัว ความเมื่อยล้า ตาพร่ามัว มีปัญหาเรื่องสมาธิหรือความสับสน และเหงื่อออกมากเกินไป อย่างไรก็ตามไม่ว่าใครก็สามารถมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และอาจจะไม่ได้เป็นสาเหตุที่เห็นได้ชัดเจน ดังนั้นผู้ที่มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด

อาการหูชั้นในอักเสบ

หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) คือการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่บริเวณหูชั้นในที่อาจนำไปสู่อาการวิงเวียนศีรษะได้ การติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบบริเวณโครงสร้างที่ซับซ้อนของหูชั้นในหรือ Labyrinth ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาการทรงตัวของคน

ในบางครั้งอาการหูชั้นในอักเสบสามารถทำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นหรือยืนตัวตรงได้ยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อต้องลุกขึ้นจากที่นอน โดยอาการอื่น ๆ ของหูชั้นในอักเสบอาจอาจรวมไปถึง อาการปวดหู ปวดหัว หูอื้อหรือได้ยินเสียงเเว่วในหู เห็นภาพไม่ชัดหรือภาพซ้อน และคลื่นไส้อาเจียนได้

ส่วนใหญ่แล้วหูชั้นในอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และมักเกิดขึ้นหลังจากการเป็นหวัดหรือเป็นไข้ การรักษาจึงมักเกี่ยวข้องกับการพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ แต่สำหรับคนที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาเพื่อลดการวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้ นอกจากนี้อาจใช้ยาปฏิชีวนะด้วยหากสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การใช้ยา/ผลข้างเคียงของยา

การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้เนื่องจากเป็นผลข้างเคียง โดยการใช้ยาที่ว่านี้ได้รวมถึงยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ กลุ่มยา opioid บรรเทาอาการปวด ยากันชัก  ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาต้านอาการทางจิต และการรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัส ดังนั้นผู้ที่มีอาการป่วยควรบอกกับแพทย์ ถ้าหากพวกเขากำลังใช้ยาที่คิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเวียนศีรษะตอนเช้า แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนปริมาณการใช้ยาหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นการรักษาแบบอื่นแทน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea – OSA) เป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับที่บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะในตอนเช้าได้ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเกิดขึ้นเมื่อการหายใจของคนเรามีการติดขัดซ้ำ ๆ หรือถูกขัดขวางในขณะที่นอนหลับ การหยุดชะงักนี้รบกวนการนอนหลับและสามารถส่งผลต่อระดับออกซิเจนในเลือด อาการอื่น ๆ ของ OSA อาจรวมไปถึง

  • อาการนอนกรนเสียงดังและอ้าปากค้างขณะนอนหลับ
  • จำเป็นต้องปัสสาวะบ่อยขึ้นในระหว่างกลางคืน
  • ปากแห้งและปวดหัวในตอนเช้า
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิและความจำ
  • อาการเมื่อยล้าระหว่างวันที่มากเกินไป

ในระยะยาวภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และหอบหืด ผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แท้จริงของผู้ป่วย ทางเลือกของการรักษาจึงอาจรวมไปถึง Lifestyle intervention หรือการปรับการใช้ชีวิตประจำวัน การใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจตอนกลางคืน และการผ่าตัด

การป้องกัน

การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันอาจช่วยป้องกันหรือลดอาการวิงเวียนศีรษะตอนเช้าได้ โดยการปรับเปลี่ยนนี้ประกอบด้วย

  • การดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อความชุ่มชื้น
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
  • การทานอาหารที่สมดุลและมีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในตอนเย็น
  • นอนหลับให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • การลดและจัดการกับความเครียด

เมื่อไหร่ที่ต้องไปพบแพทย์

คนที่ตื่นนอนแล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะเป็นครั้งคราวอาจจะไม่จำเป็นต้องไปรับการรักษาพยาบาลก็ได้ แต่สำหรับคนที่มีอาการวิงเวียนศีรษะตอนเช้าเป็นปกติควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาสาเหตุ และถ้าหากว่ามีอาการอื่นที่เกี่ยวข้องตามมาจากอาการวิงเวียนศีรษะ

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการวิงเวียนศีรษะร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หรือปวดหัวอย่างรุนแรง

สรุป

คนส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์วิงเวียนศีรษะเป็นครั้งคราว ที่ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่อย่างไรก็ตามการตื่นนอนขึ้นมาแล้วรู้สึกเวียนศีรษะบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการแฝงก็ได้ สาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการเวียนศีรษะอาจรวมไปถึงภาวะการขาดน้ำ การติดเชื้อที่หู ความดันโลหิตต่ำ และผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ผู้ที่ตื่นมาแล้วเวียนศีรษะเป็นปกติหรือเคยมีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการวิงเวียนศีรษะควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

Source:
- Balance disorders 2018,nidcd
- Dizziness and balance problems 2018, brainandspine
- Labyrinthitis 2019,bestpractice
- Low blood glucose(hypoglycemia)2016,niddk
- Orthostatic hypotension information page2018, ninds
- Sleep apnea. (n.d.), nhlbi
- Shupert, C. L., & Kulick, B. (n.d.). Labyrinthitis and vestibular neuritis, vestibular
- Rainer S., et al. (2017). Dizziness in the emergency department: An update on diagnosis., boris

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *